2146 จำนวนผู้เข้าชม |
สสส. ผนึกเครือข่ายนานาชาติ เผยผลสำรวจ Report Card ในการประชุม ISPAH 2016 เป็นครั้งแรก พบเด็ก-เยาวชนไทยมีกิจกรรมทางกายอยู่ระดับปานกลาง แต่เนือยนิ่งค่อนข้างสูง พร้อมจับมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การแก้ปัญหาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพิ่มกิจกรรมทางกายระดับชาติ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ The Active Healthy Kids Global Alliance นำเสนอผลการศึกษาโครงการสำรวจกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชนไทย (Thailand Report Card on Physical Activity for Children and Youth) และแลกเปลี่ยนผลสำรวจกิจกรรมทางกายในเด็กและเยาวชนกับอีก 38 ประเทศทั่วโลก ตามกระบวนการ Global Matrix 2.0 ในการประชุมนานาชาติด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016) หรือ ISPAH 2016
โดยมี ศ.ดร. มาร์ค เทรมเบล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิถีชีวิตสุขภาพและโรคอ้วน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. และ ผศ.ดร. เกษม นครเขตต์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ พร้อมด้วย นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดี กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และ นายสนิท แย้มเกษร ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมแถลงข่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า การมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอจำเป็นต่อประชากรทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะวัยเด็กอายุตั้งแต่ 6-17 ปี ที่กำลังมีพัฒนาทางร่ายการพร้อม ๆ กับพัฒนาการทางสมอง ที่ผ่านมา พบว่าเด็กไทยยังขาดการมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอต่อสุขภาพ และมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary) คือการนั่งนิ่งอยู่กับที่ถึงวันละ 13 ชั่วโมง 35 นาที ในขณะที่มีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงหนักตามข้อเสนอระดับสากลไม่ถึงวันละ 60 นาที เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะอ้วนในเด็กที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“สสส. โดยแผนกิจกรรมทางกาย มียุทธศาสตร์การทำงานที่สำคัญคือ ผลักดันให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยตั้งเป้าภายในปี 2564 คนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป ควรมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของประชากรในช่วงวัยนี้ และภายในปี 2562 ลดจำนวนผู้มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วนในเด็กให้น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยมุ่งส่งเสริมให้มีปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย รวมถึงพัฒนางานวิชาการ งานวิจัยด้านกิจกรรมทางกายสู่เวทีนานาชาติ”
ซึ่งผลการศึกษาโครงการสำรวจกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชนไทย หรือ Report Card ที่มีการเผยแพร่เป็นครั้งแรก ในการประชุม ISPAH 2016 เป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะนำผลการสำรวจและข้อเปรียบเทียบนี้มาใช้เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอต่อการมีสุขภาพสำหรับเด็กและเยาวชนไทยต่อไป
ศ.ดร. มาร์ค เทรมเบล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิถีชีวิตสุขภาพและโรคอ้วน ผู้ริเริ่มโครงการ Report Card จากประเทศแคนาดา กล่าวว่า จากโครงการนี้ส่งผลให้เกิดพลังขับเคลื่อนในเชิงนโยบายเพื่อการส่งเสริมกิจกรรมทางกายสำหรับเด็กและเยาวชนในประเทศแคนาดาอย่างมาก ต่อมาโครงการวิจัย Report Card นี้ได้นำไปดำเนินการสำรวจในอีก 15 ประเทศ และร่วมนำเสนอในเวทีประชุมวิชาการนานาชาติด้านกิจกรรมทางกายเมื่อปี 2557 ที่เมืองโตรอนโต แคนาดา จากนั้นประเทศไทย โดย สสส.จึงรับโครงการนี้มาดำเนินการสำรวจในประเทศไทย และนำเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเปรียบเทียบผลการสำรวจกับอีก 38 ประเทศทั่วโลกในการประชุมนานาชาติด้านกิจกรรมทางกาย ISPAH 2016 นี้