มูลนิธิราชประชาสมาสัย จับมือ สปสช.จัดตั้ง ชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย ร่วมสร้างความเข้มแข็งประเทศ

2889 จำนวนผู้เข้าชม  | 

           “หมอธีระ” ประธานมูลนิธิราชประชาสมาสัยฯ เผยผลสำเร็จ “โครงการขยายจัดตั้งชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย” หลัง 2 ปี จับมือ สปสช.ขยายเพิ่ม 192 ชมรม มีจิตอาสาเข้าร่วมกว่าหมื่นคน ส่งผลปัจจุบันมีชมรมจิตอาสา 233 ชมรม จิตอาสากว่า 1.2 หมื่นคน กระจายทั่วประเทศ สร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ พร้อมเตรียมจัดทำเป็นแผนแม่บทเสนอนายกรัฐมนตรีต้นปีหน้า ขยายโครงการให้ยั่งยืน ด้าน สปสช.พร้อมจับมือมูลนิธิฯ หนุนต่อเนื่อง ระบุใช้กองทุนสุขภาพตำบลหนุนเสริมงานชมรมจิตอาสาฯ ได้


           นพ.ธีระ รามสูต ประธานมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวบรรยายถึงความสำเร็จการดำเนินงานของมูลนิธิราชประชาสมาสัย และความคืบหน้าในการจัดตั้งชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัยว่า จุดเริ่มต้นของ “โครงการจัดตั้งชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย” มาจากความสำเร็จของมูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ประสบความสำเร็จในการกำจัดโรคเรื้อนที่ได้เริ่มดำเนินการตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่ปี 2499 ไม่เพียงแต่ควบคุมทำให้โรคเรื้อนไม่เป็นปัญหาสาธารณสุขประเทศสำเร็จในปี 2537 แต่ยังส่งผลให้ปี 2556 ประเทศไทยยังสามารถลดอัตราผู้ป่วยใหม่ก่อนเป้าหมายองค์การอนามัยโลกที่ได้กำหนดให้ปี 2563 เหลือจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนใหม่ 1 ต่อประชากร 1 ล้านคน ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงมีพระกระแสรับสั่งว่า เมื่อกำจัดโรคเรื้อนสำเร็จแล้ว มูลนิธิฯ ไม่จำเป็นต้องสนับสนุนเฉพาะงานโรคเรื้อน แต่สามารถช่วยสนับสนุนแก้ปัญหาอื่นได้ตามความเหมาะสมและกำลัง
           ต่อมามูลนิธิฯ ได้มีการจัดตั้ง “โครงการจิตอาสาราชประชาสมาสัย” เพื่อช่วยสนับสนุนแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ โดยในปี 2553 ได้เริ่มดำเนินโครงการนำร่องที่ จ.พิษณุโลก และมีการนำร่องขยายเพิ่มเติมไปยังภาคอื่น ๆ ซึ่งต่อมาในปี 2557 ได้เกิดวิกฤตทางการเมืองรุนแรง มูลนิธิราชประชาสมาสัยฯ จึงเห็นว่าสามารถใช้แนวคิดราชประชาสมาสัยเพื่อช่วยแก้ปัญหาการเมืองที่เปรียบเสมือนโรคเรื้อนได้ และทำให้ประเทศมีความเข้มแข็ง ด้วยการดึงให้ประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามีส่วนร่วม ทำให้เกิดการขยายจัดตั้งชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัยประจำตำบลและองค์กร โดยจับมือกับร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ซึ่งโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สปสช.อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา
           ในการดำเนินการร่วมกับ สปสช.และกระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มจากแกนนำพยาบาลวิชาชีพทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันจัดตั้งชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย ซึ่งต่างเป็นผู้ที่ได้ทำงานจิตอาสาอยู่แล้วในการดูแลผู้ป่วย รวมทั้งชมรมอาสาสมัครที่มีอยู่แล้ว อาทิเช่น ชมรมมิตรภาพบำบัด อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นต้น
           จากการดำเนินการเพื่อจัดตั้งชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย ในช่วงปี 2553-2557 ได้มีการจัดตั้งชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย 41 ชมรม มีจำนวนจิตอาสา 2,829 คน ซึ่งภายหลังจากที่มูลนิธิได้ร่วมกับ สปสช. ในปี 2558-2559 ได้มีการขยายจัดตั้งชมรมจิตอาสาฯ เพิ่มขึ้น 192 ชมรม มีจำนวนจิตอาสา 10,130 คน ส่งผลภาพรวมการดำเนินโครงการจัดตั้งชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัย ในปี 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 233 ชมรม จำนวนจิตอาสา 12,959 คน
           ทั้งนี้ มูลนิธิฯ เตรียมที่จะขยายการจัดตั้งชมรมเพิ่มขึ้นในปีต่อไป ซึ่งความหวังในความสำเร็จอยู่ที่ สปสช.ที่จะร่วมเป็นแกนนำขับเคลื่อน ซึ่งโครงการนี้ได้ผ่านการตกผลึกแล้ว และในเดือนมกราคม 2560 ทางมูลนิธิฯ จะทำเป็นโครงการเป็นแผนแม่บทแห่งชาติ เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในการสนับสนุนเพื่อให้มีการขยายโครงการไปทั่วประเทศ
          นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปสช. ทั้งส่วนกลางและ สปสช.ทั้ง 13 เขต ได้ให้การสนับสนุนโครงการขยายจัดตั้งชมรมจิตอาสาราชประชาสมาสัยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นส่วนที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศได้โดยใช้แนวคิดราชประชาสมาสัย และความสำเร็จนี้ยังสามารถเชื่อมต่อกับกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นในการสนับสนุนการดำเนินงานของชมรม โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ
          นอกจากนั้นยังต้องมีการสร้างขวัญกำลังใจกับจิตอาสา เพื่อเป็นกำลังใจในการติดทองหลังพระ ซึ่งที่ผ่านมาในส่วนพื้นที่ได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ในส่วนกลาง สปสช.และมูลนิธิฯ คงต้องเพิ่มเติมในส่วนนี้ รวมทั้งต้องมีการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของโครงการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาในเชิงระบบต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้