“พลังงานนิวเคลียร์” ทางเลือกของไทยในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

2871 จำนวนผู้เข้าชม  | 

          จากการประชุม “ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ณ กรุงปารีส เมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศไทยให้คำมั่นต่อที่ประชุมว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายในปีค.ศ.2030
          สำหรับข้อตกลงปารีสจะมีผลบังคับใช้ในปีค.ศ.2020 โดยกำหนดให้ทุกประเทศต้องป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส จะทำให้มีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ตายไปร้อยละ 18 ของทั้งหมด และหากอุณหภูมิสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลก็จะเพิ่มสูงขึ้น 7 เมตร ทั้งยังจะทำให้เกิดภัยพิบัติอื่นๆ ตามมา ผู้เชี่ยวชาญจึงให้ความเห็นว่าหากประเทศไทยต้องการที่จะรักษาคำมั่นที่ให้ไว้ในที่ประชุมกรุงปารีสก็ควรทบทวนแผนการใช้พลังงานผสม โดยการเริ่มผลิตไฟฟ้าด้วย “พลังงานนิวเคลียร์”
          พลังงานเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การพัฒนาทางสังคม และสวัสดิการต่างๆ โดยรายงานภาพร่างนโยบายใหม่ (New Policies Scenario) ของ ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ซึ่งเป็นองค์การอิสระภายใต้กรอบองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่าความต้องการพลังงานโลกซึ่งส่วนมากขับเคลื่อนโดยประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเติบโตเร็ว หรือเศรษฐกิจเกิดใหม่ จะเพิ่มขึ้นเทียบได้เกือบเท่าน้ำมัน 18 กิกะตัน (Gtoe) ภายในปีค.ศ.2040
          ตามข้อมูลของ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ระบุว่า การจะบรรลุเป้าหมายจำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสนั้น ต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 41 ของการใช้พลังงานทั้งหมด และลดการปล่อยก๊าซจากการผลิตไฟฟ้าลงให้ได้ร้อยละ 70


          แสวงหาสมดุลที่เหมาะสมที่สุด
          อย่างไรก็ตาม การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนแปลงของส่วนผสมพลังงานโลกจากการแสวงหาสมดุลที่ลงตัว และการบูรณาการประเภทของพลังงานสะอาด พลังงานนิวเคลียร์ กระบวนการดักจับและกักเก็บคาร์บอน โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ และเทคโนโลยีการขนส่งใหม่ที่มีใช้อยู่ สามารถลดทอนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านความมั่นคงทางพลังงาน ตลอดจนดำเนินการเพื่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
          ดังนั้น หนึ่งในอุปสรรคสำคัญในช่วงทศวรรษข้างหน้าก็คือการเสริมสร้างการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจโดยการจัดสรรพลังงานที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ และราคาไม่แพง ขณะที่ต้องสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ด้วย “พลังงานนิวเคลียร์” จึงเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานและเทคโนโลยีที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันที่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาภูมิอากาศ-พลังงานดังกล่าวได้
          การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีปริมาณน้อยมาก โดยพลังงานนิวเคลียร์ซึ่งใช้ร่วมกับพลังงานสะอาดอื่น ๆ ได้อย่างลงตัว ถือเป็นหนึ่งในวิธีผลิตพลังงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด เมื่อพิจารณาจากปริมาณการปล่อยก๊าซทั้งกระบวนการ
          สำหรับข้อได้เปรียบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเชิงการปล่อยคาร์บอนต่ำ ในเชิงการแข่งขันและความน่าเชื่อถือเมื่อเทียบกับพลังงานอื่น รวมทั้งการให้พลังงานที่สามารถกำหนด หรือเพิ่มลดปริมาณการผลิตได้และสามารถบรรเทาโลกร้อนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์ในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า หรือขยายโครงการจากที่มีอยู่เดิม
          จากรายงานของ สมาคมนิวเคลียร์โลก ระบุว่า สมาชิกในแวดวงอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของโลกต่างมีเป้าหมายที่จะร่วมผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ให้ได้ 1 พันกิกะวัตต์ภายในปี ค.ศ.2050 เพื่อให้นิวเคลียร์มีสัดส่วนร้อยละ 25 ในการผลิตไฟฟ้าในโลก ทั้งนี้ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ระบุในรายงานเทคโนโลยีนิวเคลียร์ประจำปี ค.ศ.2016 ว่า พลังงานนิวเคลียร์ช่วยบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศลงได้มาก ด้วยการตัดทอนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงปีละ 2 พันล้านตัน


          “นิวเคลียร์” : ความ “กรีน” รูปแบบใหม่
          จากนิทรรศการเกี่ยวกับการพัฒนาแบบคาร์บอนต่ำที่จัดขึ้นระหว่างการประชุมภาคี COP22 โดยรัฐบาลรัสเซียนั้น แสดงให้เห็นถึงบทบาทของพลังงานนิวเคลียร์ในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การแก้ไขพลังงานขาดแคลน และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะเดียวกับที่คงระดับการผลิตพลังงานในปริมาณมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมลพิษทางอากาศออกมาระหว่างกระบวนการผลิต และมีการปล่อยก๊าซออกมาน้อยมากตลอดระยะอายุการใช้งานทั้งหมด ทั้งยังช่วยให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานและการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม โดยการส่งมอบกระแสไฟฟ้าอย่างมีเสถียรภาพและคงที่ในราคาที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้