สกว. จับมือ สกอ. มอบรางวัลเชิดชู 10 นักวิจัย หวังดันงานวิจัยและนวัตกรรมรองรับประเทศไทย 4.0

1644 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สกว.ร่วมกับ สกอ. มอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่ 10 นักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่นจาก 7 สถาบัน ด้านรองนายกรัฐมนตรีฝากถึงนักวิจัยช่วยกันปฏิรูป ระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศรองรับประเทศไทย 4.0 ย้ำรัฐบาลจะปลดล็อคอุปสรรคในการทำวิจัยทั้งหมดเพื่อให้นักวิจัยได้รับการคุ้มครองสิทธิ ได้รับผลตอบแทนเมื่อมีการขยายผลต่อยอด



เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2561 ณ โรงแรม เดอะ รีเจ้นท์ ชะอำ บีช รีสอร์ท จ.เพชรบุรี พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมและปาฐกถานำเรื่อง “การปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรม ของประเทศในยุค Thailand 4.0” ในงาน “นักวิจัยรุ่นใหม่… พบ…เมธีวิจัยอาวุโส สกว.” ครั้งที่ 17พร้อมมอบรางวัล 2018 TRF-OHEC-Clarivate Analytics Research Excellence Award และ 2018 TRF-OHEC-Scopus Researcher Award โดยมีนักวิจัยร่วมงานกว่า 1,000 คน

ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว. )เปิดเผยว่า สกว. ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จัดมอบรางวัลดังกล่าวแก่ 10 นักวิจัยที่มีผลงานโดดเด่น เพื่อเชิดชูเกียรติแก่วุฒิเมธีวิจัย สกว. ตลอดจนเมธีวิจัย สกว. และนักวิจัยรุ่นใหม่ ที่มีผลงานวิจัยจากโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก สกว. ดีเยี่ยม ทั้งคุณภาพของงานวิจัย ตลอดจนผลกระทบต่อวงวิชาการ เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เป็นขวัญและกำลังใจในการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพสูงต่อไป โดยนักวิจัยที่ได้รับรางวัลในปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 10 ท่านในสาขาต่าง ๆ จาก 7 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา และสถาบันวิทยสิริเมธี 

วุฒิเมธีวิจัย สกว. ผู้ได้รับรางวัล 2018 TRF-OHEC-Clarivate Analytics Research Excellence Awards ได้แก่ 1.ศ. ดร.สุจินต์ บุรีรัตน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับผลงานการออกแบบโครงสร้างทางวิศวกรรมอากาศยานด้วยวิธีเมต้าฮิวริสติกส์

2.รศ. ดร.ชุติมา คูหากาญจน์ จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานการพัฒนาวิธีการสังเคราะห์ทางเคมีอินทรีย์แบบใหม่เพื่อต่อยอดเป็นยารักษาโรคหรือนำไปใช้ในเชิงสังเคราะห์สารประกอบอินทรีย์ชนิดอื่น ๆ

นักวิจัยรุ่นกลางผู้รับรางวัล 2018 TRF-OHEC-Scopus Researcher Awards ได้แก่

1. รศ. ดร.พญ.อุไรวรรณ พานิช จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานบทบาทของสารต้านออกซิเดชั่นจากธรรมชาติ (พืชตระกูลกะหล่ำและตำรับสมุนไพรห้ารากสู่การพัฒนาสารยับยั้งความเสื่อมสภาพของผิวหนัง

2. ผศ. ดร.มนตรี สว่างพฤกษ์ จากสำนักวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี กับผลงานเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไฟฟ้าชนิดตัวเก็บประจุไฟฟ้าเคมียิ่งยวด

นักวิจัยรุ่นใหม่ผู้รับรางวัล 2018 TRF-OHEC-Scopus Young Researcher Awards ได้แก่

1. ผศ. ดร.วโรดม เจริญสวรรค์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานชีววิทยาระบบเพื่อความเข้าใจและพัฒนาพืชเพื่อรับมือสภาวะโลกร้อน

2. ผศ. ดร.วาสนา ปรัชญาสกุล จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับผลงานภาวะอ้วนร่วมกับการพร่องฮอร์โมนเอสโตรเจนส่งผลเร่งการสูญเสียการเรียนรู้จดจำในเพศหญิง

3. รศ. ดร.วุฒิชัย เอื้อวิทยาศุภร จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานการสังเคราะห์โมเลกุลนาโนไฮบริดสู่นวัตกรรมวัสดุ

4. ผศ.ดร.ชัชวาล วงศ์ชูสุข จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับผลงานนาโนก๊าซเซนเซอร์เพื่อความปลอดภัยของชีวิตและสิ่งแวดล้อม

5. ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กับผลงานการใช้โฟมที่ปรับเสถียรด้วยอนุภาคแม่เหล็กนาโน ร่วมกับการเหนี่ยวนำความร้อน ทางแม่เหล็ก ไฟฟ้าในการเร่งการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยด้วยวิธีสกัดไอดิน

6. ผศ. ดร.พรรัตน์ แสดงหาญ จากคณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา กับผลงานการจ้างงานผู้สูงอายุในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

 

นอกจากนี้ สกว. ยังได้ให้ ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย (เมธีวิจัยอาวุโส สกว.) จำนวน 13 ท่าน และ ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น อีก 4 ท่าน 

สกว.เป็นหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยที่สำคัญในประเทศไทย ที่จะพัฒนาประชาคมวิจัยที่มีคุณภาพสูงด้วยการจัดหาทุนวิจัยและให้ความช่วยเหลือแก่นักวิจัยในการบริหารจัดการงานวิจัย ขณะที่ สกอ.เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย โดยกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษาระดับปริญญาตรี โท และเอกรวม 170 แห่ง การที่สกว.และสกอ.ได้สนับสนุนรางวัลร่วมกับสำนักพิมพ์ Elsevier และบริษัท Clarivate Analytics นี้ จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนายกระดับคุณภาพงานวิจัยของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นฐานของนวัตกรรมในอนาคต รวมถึงการสร้างการยอมรับต่อผลงานวิจัยของประเทศไทยในเวทีโลก เพื่อตอบสนองนโยบายยุทธศาสตร์ของชาติในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรวิจัยและสร้างฐานความรู้เพื่อการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้