มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ ต่อยอดความร่วมมือ ขยายผลสู่“โครงการพระราม 4 โมเดล” แก้ปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืน

411 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม  พร้อมด้วย   นายชัยวัฒน์   ทองคำคูณ  ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง ตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง รองกรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์ นายชิน อาโอยาม่า ประธานคณะเลขาธิการมูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ (Toyota Mobility Foundation) และนายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมแถลงข่าวโครงการพระราม 4 โมเดล เพื่อการแก้ไขการจราจรอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องบอลรูม โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ



โครงการสาทรโมเดลริเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2557 โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ และบริษัท  โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรอย่างเป็นระบบบนถนนสาทรและบริเวณโดยรอบ ในรูปแบบต่างๆ เช่น โครงการจอดแล้วจร มาตรการรถรับส่ง มาตรการเหลื่อมเวลาทำงานและมาตรการบริหารจัดการจราจรเป็นต้น ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่าการจราจรบนถนนสาทรมีความคล่องตัวเพิ่มขึ้น 12.6% โดยความเร็วในการเดินรถเพิ่มขึ้นจาก 8.8 เป็น 14.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และความยาวแถวลดลง 1 กิโลเมตรในชั่วโมงเร่งด่วน* ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ของความร่วมมือที่ทุกภาคส่วนในสังคมมีส่วนสนับสนุนร่วมกัน


ซึ่งในครั้งนี้จะเป็นการต่อยอดและขยายผลจากแผนงานของโครงการสาทรโมเดล ภายใต้ชื่อ “โครงการพระราม 4 โมเดล” โดยมีจุดประสงค์ในการใช้ข้อมูลขั้นสูงเพื่อลดปัญหาการจราจรบนถนนพระราม 4 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม กรุงเทพมหานคร กองบัญชาการตำรวจนครบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมูลนิธิโตโยต้าโมบิลิตี้  โดยมีระยะการดำเนินงานเป็นเวลา 18 เดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ถึงต้นปี 2564

(*ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559)

ทั้งนี้มูลนิธิโตโยต้าโมบิลิตี้ได้ให้การสนับสนุนเงิน 50 ล้านบาท เพื่อการดำเนินโครงการโดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรโดยใช้ข้อมูลอันหลากหลาย อาทิเช่น ข้อมูล GPS จากรถของแกร็บและรถขนส่งสาธารณะ ภาพจากกล้อง CCTV และเซ็นเซอร์ต่างๆ  ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์สภาพจราจรล่วงหน้า อย่าง AI และ Machine Learning ผนวกกับองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญด้านการสัญจร (Mobility Expert) ทั้งจากภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา อาทิเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิศูนย์ข้อมูลจราจรอัจฉริยะไทย (Intelligent Traffic Information Center : iTIC)  สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology) และ Siametrics นอกจากนี้เรายังได้รับการสนับสนุนจากผู้มีความชำนาญด้านโมบิลิตี้อย่างแกร็บ (Grab) และเวย์แคร์ (WayCare) โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เราสามารถเข้าใจเงื่อนไขและสภาพการจราจร ณ ปัจจุบัน มีความเข้าใจแนวโน้มและรูปแบบการจราจรเพื่อคาดการณ์ปัญหาการจราจรในอนาคต หรือแม้กระทั่งเข้าใจรายละเอียดเชิงลึกเพื่อมาออกแบบระบบจราจร โครงข่ายการขนส่ง และการปรับปรุงผังเมืองให้เหมาะสม ท้ายที่สุดทางคณะทำงานของโครงการคาดหวังว่าการดำเนินการโครงการนี้จะเป็น “อีกหนึ่งก้าวสำคัญที่นำไปสู่การสัญจรสำหรับทุกคนในสังคม” (a big step towards Mobility for All)

นายชิน อาโอยาม่า ประธานคณะเลขาธิการมูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี้ (Toyota Mobility Foundation)

เกี่ยวกับมูลนิธิโตโยต้าโมบิลิตี้
มูลนิธิโตโยต้าโมบิลิตี้ก่อตั้งเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2557 เพื่อสนับสนุนการพัฒนาให้สังคมสามารถมีการสัญจรมากขึ้น โดยมูลนิธิมุ่งสนับสนุนระบบการสัญจร และลดความไม่เท่าเทียมกันในด้านการสัญจรของผู้คน โดยใช้ความเชี่ยวชาญของโตโยต้าทางด้านเทคโนโลยี ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม ทำงานร่วมกับผู้ร่วมงานไม่ว่าจะเป็น สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร สถาบันวิจัย และองค์กรอื่นๆ เพื่อระบุปัญหาด้านการสัญจรทั่วโลก รวมถึงการแก้ปัญหาการเดินทางสาธารณะในเมือง การขยายการนำไปใช้การสัญจรส่วนบุคคล และการพัฒนาการสัญจรสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้