Aston Martin Valkyrie Hybrid || ว่าที่ไฮเปอร์คาร์ลูกผสม

741 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ภาพ : ASTON MARTIN
เรียบเรียง : Pitak Boon

สถาปัตยกรรม Full Hybrid เป็นทางออกสำหรับผู้ผลิตรถยนต์กลุ่มที่เน้นสมรรถนะทุกค่าย เพื่อลดมลพิษจากต้นกำลังหลักในการขับเคลื่อน นับตั้งแต่รถสปอร์ต, ซูเปอร์คาร์ ไล่เรียงไปจนถึงไฮเปอร์คาร์ ประเด็นเรื่องมลพิษจึงเป็นภาคบังคับ ที่วิศวกรจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต้องเตรียมรับมือกับมาตรฐานใหม่ที่จะเข้มข้นขึ้นจนถึงระดับ ZEV (Zero Emission Vehicle) ในอนาคต ทั้งนี้ขุมพลัง ICE (Internal Combustion Engine) หรือเครื่องยนต์สันดาปภายใน โดยเฉพาะที่เน้นแรงม้ามหาศาลจะไม่มีโอกาสรอดจากมาตรฐานนี้ไปได้เลย แนวคิดสู้กับมลพิษจากไอเสีย เริ่มต้นที่นโยบาย Engine Downsizing ลดขนาดเครื่องยนต์ แต่สมรรถนะไม่ลด ขณะที่อีกหลายบริษัทลงทุน R&D กับเทคโนโลยี Full Hybrid และก็มีอีกหลายบริษัทพัฒนาพร้อมๆ กันในทุกเทคโนโลยีทางเลือก



ราวช่วงกลางปี 2017, Valkyrie โชว์ตัวครั้งแรกกับรูปแบบ F1 ในคราบรถถนน โปรเจ็กต์นี้คือจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในวงการรถแข่งสูตร 1 นาม Red Bull Advanced Technologies กับผู้ผลิตรถยนต์สมรรถนะสูงสัญชาติอังกฤษอย่าง Aston Martin ต่อมาในงาน 88th Geneva Motor Show ซึ่งจัดขึ้นช่วงต้นปี 2018 จากโปรเจ็กต์ Valkyrie ถูกนำมาต่อยอดไปเป็น Valkyrie AMR Pro แอร์โรไดนามิคบนตัวถัง และเครื่องยนต์ได้รับการอัพเกรดขึ้นอีกระดับด้วยมาตรฐาน F1 เช่นเดิม กระทั่งมันกลายเป็นไฮเปอร์คาร์ที่ถูกระบุไว้ว่า Track-only หรือเหมาะกับสนามแข่งเท่านั้น ล่าสุดช่วงกลางปี 2019 ได้แตกไลน์ไปเป็นเวอร์ชันลูกผสม Valkyrie Hybrid วิศวกรนำมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาช่วยเครื่องยนต์ทำงาน เพื่อลดทั้งการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และมลพิษ



ทีมวิศวกรจาก Red Bull Advanced Technologies และ Aston Martin ไม่ได้เลือก Engine Downsizing แต่พัฒนาเทคโนโลยี Full Hybrid ขึ้นเพื่อช่วยลดมลพิษ ตัวเครื่องยนต์ยังคงเป็นบล็อก V12 ที่บ้าพลังที่สุดในสายการผลิต จากนั้นนำชุดไฮบริดเข้ามาช่วย ทั้งลดและเสริมการทำงานของเครื่องยนต์บิ๊กบล็อก ‘ลด’ หมายถึง ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และลดมลพิษที่เกิดขึ้นจากขบวนการสันดาป ส่วน ‘เสริม’ จะเป็นการช่วยเครื่องยนต์ทำงาน ทั้งขณะออกตัว และเร่งแซง ให้ตัวเลขสมรรถนะที่ดีขึ้นในทุกช่วงอัตราเร่ง เมื่อเทียบกับการใช้แรงม้า และแรงบิด จากเครื่องยนต์เพียงอย่างเดียว



การทำงานของระบบไฮบริดใน Valkyrie Hybrid เป็น know-how จาก F1 ทั้งในส่วนของ ‘KERS-style’ หรือ ‘Power Boost’ มอเตอร์ช่วยเครื่องยนต์สร้างอัตราเร่งในทางตรงและเร่งแซง และ ‘Energy Recovery System’ มอเตอร์สร้างแรงหน่วงขณะรถชะลอความเร็วก่อนเข้าโค้ง หรือขณะเบรก จากนั้นระบบจะ ‘แปลงพลังงานกลเป็นพลังงานไฟฟ้า’ ป้อนกลับแบตเตอรี่เพื่อเป็นพลังงานสำรองต่อไป

ระบบไฟฟ้าของระบบไฮบริดที่ถูกเพิ่มเข้ามาใน Valkyrie Hybrid เลือกใช้เทคโนโลยีจากพันธมิตร 2 บริษัท เจ้าแรก ‘Rimac Ltd.’ เป็นผู้เชี่ยวชาญการผลิตแบตเตอรี่น้ำหนักเบาให้กับรถไฮบริด และ ‘Integral Powertrain Ltd.’ สายแข็งเรื่องมอเตอร์ไฟฟ้า เคลมผลงานด้วยกำลังจากมอเตอร์ 160 bhp พร้อมแรงบิดสูงสุด 280 Nm โดย E-Motor คาดว่าจะถูกออกแบบไว้ภายในกระปุกเกียร์



เครื่องยนต์และกระปุกเกียร์ (พร้อมมอเตอร์ไฟฟ้า) ถูกวางไว้กลางลำ เพื่อส่งกำลังไปขับเคลื่อนล้อหลัง เป็นบล็อก V12 NA (Naturally Aspirated) ที่ออกแบบโดยเซียนเครื่องยนต์ F1 นาม Cosworth ชิ้นส่วนเคลื่อนที่ภายในตัวเครื่อง ยกระดับมาใช้มาตรฐานเดียวกับเครื่อง F1 ทั้งหมด เสื้อสูบวางทำมุม 65 องศา ขนาดความจุ 6.5 ลิตร ให้แรงม้า 1,000 bhp ที่ 10,500 รอบ/นาที หรือ 153.8 bhp-per-litre รอบเครื่องกวาดไปได้สุดถึง 11,100 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุด 740 Nm ที่ 7,000 รอบ/นาที และกำลังรวมของระบบไฮบริด หรือ เครื่องยนต์+มอเตอร์ พุ่งทะลุไปแตะ 1,160 bhp ที่รอบจัดถึง 10,500 รอบ/นาที พร้อมแรงบิดมหาศาลถึง 900 Nm ที่ 6,000 รอบ/นาที


Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้