วิทยาศาสตร์ฯ มธ. ชูศาสตร์การจัดการเกษตรอินทรีย์ หลักสูตรแรกของไทย

4070 จำนวนผู้เข้าชม  | 

          คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ชู “วิชาการจัดการเกษตรอินทรีย์” แห่งแรกของไทย ศาสตร์การเรียนรู้ด้านการวิจัยการเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการ ที่มุ่งเน้นการวิจัยแบบมีส่วนร่วมของเกษตรรายย่อยให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม และภูมิประเทศ โดยหลักสูตรดังกล่าวตั้งเป้าหมายในการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนเพื่อเป็นการสานต่อพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในด้านการพัฒนาการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

           รองศาสตราจารย์ ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีพระปรีชาสามารถในการพัฒนาประเทศด้วยการนำวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยพัฒนาในหลากหลายด้าน อาทิ ด้านการเกษตร ทรงเน้นเรื่องการค้นคว้าทดลอง วิจัยพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ศึกษาสภาพของดินและพัฒนาให้สามารถทำการเกษตรได้ ฯลฯ ควบคู่ไปกับทรงชี้แนวทางการดำเนินชีวิตด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยมุ่งหมายให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามกระแสโลกาภิวัตน์
          คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้น้อมนำแนวทางของพ่อหลวงมาเป็นต้นแบบในการเปิดการเรียนการสอน “หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเกษตรอินทรีย์” เป็นแห่งแรกของประเทศไทย นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา


          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเกษตรอินทรีย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า สำหรับหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเกษตรอินทรีย์เป็นหลักสูตรการเรียนรู้ด้านการวิจัยการเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการ ที่มุ่งเน้นการวิจัยแบบมีส่วนร่วมของเกษตรรายย่อยให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ภูมิประเทศ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทยเพื่อผลิตมหาบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม อันสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของไทย เพื่อให้สามารถก้าวสู่การแข่งขันได้อย่างยั่งยืนทั้งในเวทีการค้าไทยและต่างประเทศ

การศึกษาโครงการอิสระ ณ แดรี่โฮม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

การศึกษาโครงการอิสระ ณ ไร่ทนเหนื่อย อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี

การศึกษาโครงการอิสระ ณ รังสิตฟาร์ม อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา


          อีกทั้งพัฒนาบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในด้านการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยโดยเนื้อหาของหลักสูตรดังกล่าวมุ่งเสริมสร้างคุณภาพชีวิตชุมชนและผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ อันจะก่อประโยชน์อย่างยิ่งต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน สู่เป้าหมายในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการจัดการเกษตรอินทรีย์ของโลกในอนาคต

"สบู่กำจัดสิว" ผลงานวิจัยของนักศึกษา ได้รับรางวัลงานวิจัยระดับดี


          ทั้งนี้ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเกษตรอินทรีย์ เปิดรับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรี ทุกสาขาจากสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เน้นรูปแบบการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning: PBL) และเน้นวิจัยร่วมกับชุมชน ศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการบริการวิชาการแก่สังคม
          อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหลักสูตรดังกล่าว สามารถผลิตมหาบัณฑิตคืนสู่สังคมได้เป็นจำนวนกว่า 30 ราย ขณะเดียวกันก็สามารถพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพ จนได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดี และรางวัลผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ อาทิ นวัตกรรมผงเร่งโต (หรือบีพี-ไบโอออร์ก้า)นวัตกรรมพยากรณ์การเกิดโรคของต้นข้าวในนาข้าว และนวัตกรรมย่อยสลายเศษพืชและฟางข้าว (หรือ “ไบโอออร์ก้า-พลัส”) เป็นต้น

การบริการวิชาการแก่สังคม หลักสูตร "ผลิตผู้ตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส"

การบริการวิชาการแก่สังคม หลักสูตร "เพาะเห็ดฟางตระกร้า"


          ทั้งนี้ ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถต่อยอดองค์ความสู่การเป็นเจ้าของฟาร์ม เจ้าของธุรกิจเกษตรอินทรีย์ ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก และเป็นพนักงานในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีศักยภาพ
          ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หมายเลขโทร.0-2564-4440 หรือคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ http://www.sci.tu.ac.th/tuorganic

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้