โฟตอน ทูนแลนด์ สัญชาติจีน ประกอบไทย หัวใจอเมกันสไตล์

1998 จำนวนผู้เข้าชม  | 

          'การตอบสนองของเครื่องยนต์ดีเลยทีเดียว อาจจะไม่กระชากหลังติดเบาะแต่ไปได้เนียน ผมลองขับไล่เปลี่ยนเกียร์ไปเรื่อยๆ ซึ่งเกียร์กับรอบเครื่องยนต์สัมพันธ์กันดี ลองเปลี่ยนเกียร์ที่รอบประมาณ 2,000 รอบทุกเกียร์ แต่มาช่วงที่เกียร์ 4 ไปเกียร์ 5 รอบจะไม่ตกเลย ช่วงความเร็วที่ 120 รถจะไหลไปเรื่อย ๆ ถ้าจะเร่งจาก 120 ขึ้นไป 140 ต้องใช้คันเร่งเยอะหน่อยหรือคันเร่งหนักนั้นเอง แต่ถ้าจะให้ดีเปลี่ยนเป็นเกียร์ 4 แล้วแซง บอกเลยมันส์ชัวร์ เพราะเกียร์ 4 สามารถลากความเร็วได้ถึง 140 กม/ชม. เลยทีเดียว ส่วนพวงมาลัยจะหนัก ๆ หน่วง ๆ หน่อย ตามสไตล์รถกระบะคันใหญ่'

 


          ช่วงมอเตอร์เอ็กซ์โปปี 2016 ที่ผ่านมา บริษัท โฟตอน ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปิดตัวรถกระบะ “โฟตอน ทูนแลนด์” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย สำหรับตัว “โฟตอน ทูนแลนด์” ที่มีการออกแบบมาดูดุดัน ทรงพลัง และทนทาน เนื่องจากได้ผสมผสานส่วนประกอบจากผู้ผลิตระดับโลกเข้าไว้ด้วยกัน โดยเครื่องยนต์เป็นเครื่องเทอร์โบดีเซลของคัมมินส์ (Cummins) ชุดเกียร์จากเก็ทแท็ก (Getrag) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และระบบ ABS จากบ๊อช (Bosch) ชุดขับเคลื่อนสี่ล้อจากบอร์ก วอร์เนอร์ (Borg Warner) ส่วนตัวเฟืองท้ายและเพลาขับต่าง ๆ จาก ดานา (Dana) “โฟตอน ทูนแลนด์” มีให้เลือกทั้งรุ่นซิงเกิ้ลตอนเดียวและรุ่นดับเบิ้ลแค็ป 4 ประตู โดยรุ่น ดับเบิ้ลแค็ป 4 ประตู มีทั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ และ ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อ และในโอกาสนี้ ทางบริษัท โฟตอน ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้เชิญทีมงาน “lifestyle224” ไปร่วมทดสอบประสิทธิภาพของเจ้า “โฟตอน ทูนแลนด์” ในครั้งนี้ด้วย

          จุดนัดหมายกิจกรรมทดสอบครั้งนี้ คือศูนย์บริการ “โฟตอน” อ่อนนุช เริ่มต้นด้วยบรรยายเรื่องของผลิตภัณฑ์ “โฟตอน ทูนแลนด์” ที่ภายนอกถูกออกแบบมาให้สะท้อนความสมบุกสมบันและรูปลักษณ์ที่โดดเด่นเหมาะกับขนาดตัวถังที่บึกบึน อีกทั้งยังใส่ไฟส่องสว่างเวลากลางวัน (Daytime Running Lights) เพิ่มความปลอดภัย ล้ออัลลอยขนาด 15” กระจกมองข้างสีเดียวกับตัวรถพร้อมไฟเลี้ยว อุปกรณ์ชุดนี้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานสำหรับรถ “โฟตอน ทูนแลนด์” ทุกรุ่น ในส่วนของตัวขับสี่จะเพิ่มคิ้วซุ้มล้อ บันไดข้าง ล้ออัลลอย 17” ระบบสัญญาณเตือนถอยหลัง และกรจกมองข้างโครเมียมพร้อมไฟเลี้ยว

 


          ภายในเบาะคู่หน้าขนาดใหญ่ถูกออกแบบให้เข้ากับสรีระโดยในรุ่นดับเบิ้ลแค็ป 4 ประตูสามารถปรับเบาะที่นั่งได้ 6 ทิศทาง คอนโซลกลางขนาดกว้างขวางและมีที่เก็บของพร้อมฝาปิด มาพร้อมกับที่วางแก้วขนาดใหญ่สองตำแหน่งสามารถเลื่อนฝาปิดเพื่อแปลงเป็นที่เก็บของเพิ่มเติมได้ พวงมาลัยหุ้มหนังมาพร้อมปุ่มควบคุมเครื่องเสียงและระบบบูลทูสท์ ในรุ่นดับเบิ้ลแค็ป 4 ประตูขับสองและขับสี่ จะมีปุ่มควบคุมความเร็วอัตโนมัติ (Cruise Control) พร้อมระบบเครื่องเสียงหน้าจอสัมผัสขนาด 7” เบาะนั่งด้านหลังขนาดใหญ่พร้อมพนักพิงหลังที่เอียงได้องศาเพื่อความสะดวกสบายในการนั่ง ระบบแอร์ดิจิตอล

 


          เครื่องยนต์คัมมินส์ ISF (Cummins ISF Diesel) สำหรับเครื่องยนต์เป็นเครื่อง Cummins ISF ซึ่งเป็นเครื่องยนต์สัญชาติอเมริกา ทรงพลังและทนทาน โดยขุมพลัง ISF 4 สูบ 2.8 ลิตร เทอร์โบอินเตอร์คูลเลอร์ ให้พละกำลังสูงสุด 163 แรงม้าที่ 3,600 รอบ/นาที แรงบิดสูงสุดที่ 360 Nm จาก 1,800-3,000 รอบต่อนาที และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยมาตรฐานไอเสีย EURO4 เครื่องยนต์นี้ทำงานควบคู่กับระบบส่งกำลัง 5 จังหวะ JC538 ของเก็ทแท็ก (Getrag) จากประเทศเยอรมันนี โดยตัวเกียร์นี้รถสปอร์ตฝั่งยุโรปใช้กันมากมาย ส่วนตัวชุดเฟืองขับเคลื่อนสี่ล้อบอร์ก วอร์เนอร์ (Borg Warner) จากอเมริกา สามารถเปลี่ยนจากการขับเคลื่อน 2 ล้อเป็น 4 ล้อ 4H ได้ด้วยระบบ Shift-On-The-Fly ในขณะที่ความเร็วไม่เกิน 80 กม/ชม. และเปลี่ยนเป็น 4L ต้องหยุดรถเพื่อความปลอดภัย ส่วนเพลาและเฟืองท้ายของรถรุ่นนี้ผลิตโดยดานา (DANA) อเมริกา โดยมี Limited Slip Differential (LSD) เป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรุ่นดับเบิ้ลแคบขับเคลื่อน 4 ล้อ

 


          เรื่องของความปลอดภัย “โฟตอน ทูนแลนด์” มาพร้อมกับชุดถุงลมนิรภัยสำหรับผู้ขับขี่และผู้โดยสารด้านหน้า เข็มขัดนิรภัยแบบดึงกลับเป็นอุปกรณ์มาตรฐานพร้อมระบบเอบีเอส 4 Ch จาก Bosch ระบบกระจายแรงเบรกอัตโนมัติ (Electronic Brakeforce Distribution-EBD) พร้อมระบบดิกเบรก 4 ล้อ นอกจากนี้ยังมีระบบแจ้งเตือนแรงดันลมยาง จะแจ้งที่แผงหน้าปัดในกรณีที่ค่าลมยางเปลี่ยนไปจากเดิมและใกล้จะหมดสนิท ส่วนระบบช่วงล่างแบบดับเบิ้ลวิชโบนพร้อมคอยล์สปริงที่ด้านหน้า ทำงานร่วมกับพวงมาลัยเพาเวอร์ไฮโดรลิคแบบแรคแอนด์พิเนียน

          หลังจากที่ได้รับฟังการบรรยายผลิตภัณฑ์ “โฟตอน ทูนแลนด์” คราวนี้มาทดลองขับขี่กันบ้างกับถนนจริง ๆ โดยเส้นทางในการขับขี่คราวนี้ ออกจากศุนย์ โฟตอน อ่อนนุช ไปที่โรงโม่หินศิลามหานคร โดยใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ ก่อนที่จะขับผ่านอ่างเก็บน้ำบางพระ และเข้าไปสู่โรงโม่หินศิลามหานคร โดยช่วงแรกเป็นการขับขี่แบบออนโรดคือ ขับขี่ถนนจริง โดยไม้แรกผมจัดการหวดก่อนเลย หลังจากเปิดประตูขึ้นรถอันดับแรกคือตำแหน่งของพวงมาลัยที่ไม่ขนานกับตัวคนขับซึ่งจะเอนไปด้านหน้าพอสมควรทำให้ดูว่าท่าจับพวงมาลัยดูขัด ๆ ไปไม่เป็นธรรมชาติ ตัวเบาะนั่งที่ใหญ่ทำให้นั่งสบายแต่ไม่กระชับเท่าไหร่ ในห้องโดยสารกว้าง



          ตำแหน่งของปุ่มแอร์ ปุ่มวิทยุใกล้มือปรับเปลี่ยนง่าย ส่วนด้ามเกียร์สั้นไปหน่อย จังหวะเข้าเกียร์หนึ่งจึงต้องเอื้อมนิดหนึ่ง ส่วนเรื่องของทัศนวิสัย กระจกหน้ากว้างขวางมองได้ไกล กระจกมองข้างขนาดใหญ่ที่เห็นได้ถึงสองเลนเลยทีเดียว คราวนี้เรามาดูในตำแหน่งของแป้นเหยียบกันบ้างในตำแหน่งของคลัทช์นั้นจะชิดพนังไปนิดนึง จากนั้นเริ่มขับกันเลยดีกว่า เนื่องจากรถเป็นเกียร์ธรรมดาคลัทช์มีส่วนสำคัญมาก ถ้าคลัทช์หนักจะทำให้ขับขี่ในเมืองลำบาก สำหรับคลัทช์ของเจ้า “ทูนแลนด์” เบาและเหยียบสบายเท้า แต่คลัทช์สูงไปนิด หากขับไปนาน ๆ ทำความคุ้นเคยกับรถได้จะไม่เป็นปัญหาอะไร ส่วนเรื่องเบรกดีครับ แต่ต้องใช้น้ำหนักเบรกเยอะในการเหยียบ ส่วนของช่วงล่างนั้น การขับทดสอบช่วงแรกที่เป็นถนนคอนกรีตของบ้านเรา ช่วงล่างด้านหลังเด้งกระดอนตามสภาพรอยต่อของถนนเรียกได้ว่าเก็บทุกหลุมเลยทีเดียว

 


          ส่วนเรื่องของเครื่องยนต์ที่เป็น “เครื่องยนต์คัมมินส์ ISF” 2.8 เทอร์โบ บอกเลยว่าการตอบสนองของเครื่องยนต์ดีเลยทีเดียว อาจจะไม่กระชากหลังติดเบาะแต่ไปได้เนียน ผมลองขับไล่เปลี่ยนเกียร์ไปเรื่อย ๆ ซึ่งเกียร์กับรอบเครื่องยนต์สัมพันธ์กันดี  ผมลองเปลี่ยนเกียร์ที่รอบประมาณ 2,000 รอบทุกเกียร์ แต่มาช่วงที่เกียร์ 4 ไปเกียร์ 5 รอบจะไม่ตกเลย ช่วงความเร็วที่ 120 รถจะไหล ๆ ไปเรื่อย ๆ แต่ถ้าจะเร่งจาก 120 ขึ้นไป 140 ต้องใช้คันเร่งเยอะหน่อยหรือคันเร่งหนักนั้นเอง แต่ถ้าจะให้ดีเปลี่ยนเป็นเกียร์ 4 แล้วแซงบอกเลยมันส์ชัวร์ เพราะเกียร์ 4 สามารถลากความเร็วได้ถึง 140 กม/ชม. เลยทีเดียว ส่วนพวงมาลัยจะหนัก ๆ หน่วง ๆ หน่อย ๆ ตามสไตล์รถกระบะคันใหญ่

          พอเราขับมาถึง โรงโม่หินศิลามหานคร ในส่วนตรงนี้ทางทีมงานได้เซ็ทสนามทดสอบออฟโรดเอาไว้ โดยให้เราวิ่งในโรงโม่หินนี้เลย เส้นทางก็จะมีน้ำขังบ้าง เป็นเลนบ้าง มีขึ้นทางชันลงทางชัน โดยรถที่ผมใช้เป็นแบบขับสอง บอกเลยครับว่าขับสองก็สามารถไปกับสภาพพื้นที่แบบนี้ได้ คันเร่งก็ไม่ต้องใช้เยอะแถมยังมีแทร็คชั่นคอนโทรลช่วยด้วย ขับสองยังขับง่ายขนาดนี้ ถ้าเป็นขับสี่ไม่ต้องพูดถึงไปเรื่อย ๆ ไปชิว ๆ สบายเลยทีเดียว

 


          สำหรับ “โฟตอน ทูนแลนด์” มีรุ่นย่อย 5 รุ่น มาพร้อมราคาดังนี้
          รุ่น Single Cab Standard Flat Bed ราคา 514,900 บาท

          รุ่น Double Cab Standard 2WD  ราคา 681,700 บาท
          รุ่น Double Cab High Standard 2WD  ราคา 729,900 บาท
          รุ่น Double Cab High Premium 2WD  ราคา 759,900 บาท
          รุ่น Double Cab 4WD ราคา 826,200 บาท

          ท่านใดสนใจ สามารถเข้าไปดูตัวเป็น ๆ ของ “โฟตอน ทูนแลนด์” ทั้ง 5 รุ่นย่อย ได้ที่ โชว์รูม “โฟตอน” ทั้ง 19 สาขาทั่วประเทศ และภายในปีนี้จะขยายเป็น 40 ศูนย์บริการครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ บริษัท โฟตอน ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ที่เชิญทีมงาน “Let’go224” ไปร่วมทดสอบในครั้งนี้ครับ

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้