ทดลองขับ มาสด้า 2 เล็กพริกขี้หนูเผ็ดจี๊ด

873 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โดย อัฐฒา นายเรือ

หลังจากที่ มาสด้า 2 เวอร์ชันสกายแอคทีฟ ได้เปิดตัวมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2015  จำหน่ายไปทั้งหมดกว่า 160,000 คัน ถึงเวลาปรับโฉมแต่งหน้ามาปากกันใหม่แล้ว เลยถือโอกาสใช้เวทีในงาน มอเตอร์ เอกซ์โป 2562 เป็นสถานที่แถลงข่าวเปิดตัวและรับจองรถกันทีเดียวเลย ซึ่งก็สามารถทำยอดจองไปได้ราว 2,200 คัน จากยอดจองของมาสด้าทุกรุ่นในงานนี้เกือบ 4,000 คัน  หลังจากนั้นไม่นานทางมาสด้าก็ได้นำคณะผู้สื่อข่าวไปทดลองสมรรถนะ มาสด้า 2 ใหม่ กันที่ สนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต บุรีรัมย์

 

เราเดินทางมาถึงสนามกันในช่วงก่อนเที่ยง ได้รับฟังข้อมูลของรถรุ่นใหม่ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม รถรุ่นนี้ยังคงใช้เทคโนโลยีสกายแอคทีฟทั้งคัน ไม่ว่าจะเป็น โครงสร้างตัวรถ เครื่องยนต์ ระบบเกียร์ ฯลฯ  เครื่องยนต์มีให้เลือก 2 ขนาด ทั้งเบนซิน 1.3 ลิตร และ ดีเซล 1.5 ลิตร เช่นเดิม ระบบเกียร์แบบอัตโนมัติ 6 จังหวะ การออกแบบภายใต้ KODO Design ตัวรถมีทั้งแบบ 4 และ 5 ประตู แฮทช์แบคให้เลือก


การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่จะเป็นการตกแต่งภายในและภายนอกรถใหม่ ตัวรถได้รับการขัดเกลาให้มีความเรียบหรู ปราดเปรียว มากยิ่งขึ้นตามแนวคิด Less is more หลักๆ จะประกอบไปด้วย ด้านหน้ารถมีการปรับโฉมของกันชน กระจังหน้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ในรูปแบบคล้ายกับ มาสด้า 3 ใหม่ รวมไปถึงไฟคู่หน้าใหม่แบบโปรเจคเตอร์ แอลอีดี  โดยรุ่นนี้จะไม่ติดตั้งไฟตัดหมอกมาให้ ล้อแม็คใช้ขนาด 15 และ 16 นิ้ว ขึ้นกับในแต่ละรุ่น  ไฟท้ายมีขนาดใหญ่ขึ้น ใช้สีดำน้อยลง มีส่วนของโครเมี่ยมมากขึ้น

 



มีการปรับปรุงในเรื่องการเก็บเสียงรบกวนจากภายนอกที่จะเข้ามาในห้องโดยสารให้มีความเงียบมากขึ้น มีการเชื่อมต่อการสื่อสารแบบไร้ขีดจำกัดกับ Mazda Connect มาพร้อมระบบ Apple CarPlay แสดงข้อมูลผ่านจอสีขนาด 7 นิ้ว ’

 


เบาะที่นั่งได้รับการออกแบบใหม่เพื่อรักษากระดูกเชิงกรานให้ตั้งตรง คงไว้ซึ่งเส้นโค้งเป็นตัวอักษร S ที่เป็นไปตามธรรมชาติของกระดูกสันหลัง ซึ่งถือเป็นท่านั่งที่ถูกต้อง เพิ่มความสะดวกสบายในขณะขับขี่ และนั่งโดยสาร


จุดที่เราอย่างให้มาสด้า 2 ปรับปรุงเพิ่มขึ้นคือในเรื่องของความกว้างขวางของพื้นที่ภายในห้องโดยสารและห้องเก็บสัมภาระค่อนข้างคับแคบกว่าบรรดาคู่แข่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่นั่งเบาะหลังถ้านั่งนานๆ อาจจะรู้สึกอึดอัดอยู่บ้าง แต่ในส่วนของตำแหน่งเบาะนั่ง ทัศนวิสัยในการขับขี่ รูปทรงเบาะที่รับกับสรีระ เรื่องนี้ทำได้ดีมาก  

แม้จะเป็นรถขนาดเล็กแต่ได้รับการติดตั้งระบบความปลอดภัยมาเพียบทั้งในเชิงป้องกันและลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุมาให้รอบคัน เช่น ระบบเตือนเมื่อมีรถอยู่ในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน รวมไปถึงขณะถอยหลัง ระบบจะแสดงภาพแบบ 360 องศารอบทิศทาง พร้อมเซนเซอร์กะระยะด้านหน้า ฯลฯ  



เราได้ทดสอบสมรรถนะ มาสด้า 2 ใหม่ กันเป็นเวลาครึ่งวันเต็มในช่วงบ่าย โดยรถที่นำมาทดสอบมีทั้ง เบนซิน 1.3 ลิตร และ ดีเซล 1.5 ลิตร การแบ่งออกเป็น 3 สถานีด้วยกัน คือ

1.Performance  .2. Handling/Brake/GVC Plus  3.Track Test Drive

 



สถานีที่ 1.Performance  ใช้ช่วงทางตรงที่ยาวที่สุดของสนามจากโค้งแรกยาวไปจนสุดสนามแล้ว ยูเทรินแล้ววิ่งบนทางตรงยาวๆ อีกช่วงหนึ่งของสนามแข่ง ในระหว่างทางตรงยาวๆ ทั้ง 2 ช่วง จะมีไพลอนตั้งกั้นไว้เป็น เลนเชนจ์ ให้รถวิ่งเปลี่ยนทิศทางไปมา เราลองขับ 2 รอบเพื่อลองสมรรถนะ อัตราเร่งในช่วงทางตรง และดูข้อแตกต่างในการควบคุมรถระหว่างการใช้ระบบ G-Vectoring Control Plus (GVC Plus) และขับโดยไม่มีตัวช่วยนี้ ก่อนจะครบรอบ ที่พื้นทางวิ่งจะมีวัสดุปูที่พื้นขวางไว้ให้รถวิ่งผ่านเพื่อทดสอบในเรื่องการเก็บเสียงรบกวนจากพื้นที่จะเข้าสู่ห้องโดยสารด้วย  

ในด้านอัตราเร่ง รุ่น 1.5 ดีเซล ค่อนข้างได้เปรียบเนื่องจากแรงบิดจะมีมากกว่า แถมประหยัดน้ำมันมากๆ ตามสเปคแจ้งไว้อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงทำได้ 26.3 กม./ลิตร แต่เครื่องยนต์เบนซิน 1.3 ลิตร ก็ถือว่าไม่อืด การลองอัตราเร่งบนทางตรงยาวๆ ทำได้ดีจนแทบไม่น่าเชื่อว่าใช้เครื่องแค่ 1.3 ลิตร พละกำลังถือว่าเพียงพอต่อการเดินทางไกล การเร่งแซง ทำได้อย่างสบายๆ ตามสเปคเคลมว่า ทำอัตราการสิ้นเปลืองได้ 23.3 กม./ลิตร  ส่วนในเรื่องของการควบคุมบังคับไม่แตกต่างกันมากนักระหว่างรุ่นเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล  

จากรุ่นเดิมติดตั้งระบบ G-Vectoring Control มาสด้า 2 ใหม่ได้มีการอัพเกรดเป็น ระบบควบคุมการขับขี่อัจฉริยะขั้นสูง G-Vectoring Control Plus (GVC Plus) ที่จะช่วยทำให้รถมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นขณะเข้าโค้ง

ขณะรถเริ่มวิ่งเข้าโค้งเครื่องยนต์จะลดแรงบิดลงเล็กน้อยให้เหมาะสมกับลักษณะของโค้ง ทำให้น้ำหนักตัวรถถ่ายมายังล้อหน้าซึ่งเป็นล้อในการควบคุมรถ มีผลให้ล้อหน้ายึดเกาะถนนมากขึ้น เข้าโค้งได้อย่างแม่นยำและสมดุล

ขณะรถอยู่ในโค้ง ระบบจะคืนแรงบิดสู่สภาวะปกติเพื่อควบคุมการถ่ายน้ำหนักของตัวรถให้สมดุลทั้งหน้าและหลัง ส่งผลให้มีการแก้พวงมาลัยในโค้งเกิดขึ้นน้อยที่สุด  

ขณะรถออกจากโค้ง ระบบจะตรวจการหมุนของพวงมาลัยเพื่อคำนวณการเบรคเล็กน้อยที่ล้อหน้าฝั่งนอกโค้ง ทำให้รถกลับสู่ทางตรงได้ง่ายขึ้น  

 

GVC Plus จะส่งผลให้การควบคุมรถทำได้ดีและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพื่อหลบหลีกในสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมไปถึงการเปลี่ยนเลนที่ความเร็วสูง และการขับขี่บนพื้นผิวที่ลื่น เช่น ในขณะฝนตกหรือขับขี่บนหิมะ 

ส่วนการเปลี่ยนเลนกะทันหันแบบ เลนเชนจ์ ในรอบแรกเมื่อมาถึงไพลอนตัวแรกที่ความเร็วประมาณ 70 กม./ชม. เราจะยกเท้าออกจากคันเร่งเพื่อตัดไม่ให้ระบบ GVC Plus เข้ามาช่วยเรื่องการทรงตัวในขณะเข้าโค้ง แล้วปล่อยรถไหลเข้าไป หักพวงมาลัยหลบสิ่งกีดขวาง ซ้าย-ขวา

ในรอบที่ 2 เราขับมาเหมือนเดิมเพียงแต่เมื่อถึงช่วงเลนเชนจ์ เท้าเรายังคงเหยียบคันเร่งอยู่ ระบบ GVC Plus จะเข้ามาช่วย


เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการที่ระบบ GVC PLUS ทำงานกับไม่ทำงานนั้น ความรู้สึกในขณะเข้าโค้งจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด การเข้าโค้งถ้าไม่มีระบบ GVC Plus ช่วย จะรู้สึกว่าเสถียรภาพในการเข้าโค้งทำได้ไม่ดีนัก แต่เมื่อเราเหยียบคันเร่งในขณะเข้าโค้งระบบ GVC Plus จะเข้ามาช่วย การเข้าโค้งจะทำได้ง่ายและสมดุลมากขึ้นจนเรารู้สึกได้ และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และขณะขับผ่านสิ่งกีดขวางที่พื้นเพื่อดูการเก็บเสียงรบกวนในห้องโดยสาร มาสด้า 2 ทำได้ดีในหัวข้อนี้ รวมไปถึงเมื่อเราขับรถด้วยความเร็วสูงในช่วงทางตรง เสียงลมเข้ามาในห้องโดยสารค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะมีเสียงจากลมเมื่อปะทะกับกระจกมองข้างเข้ามาในรถบ้าง



หลังจากนั้นเราก็ย้ายมาที่สถานีที่ 2. Handling/Brake/GVC Plus จะใช้ทางโค้งช่วงกลางสนามเป็นเส้นทางทดสอบการควบคุมรถบนทางโค้ง การเบรกอย่างหนักก่อนถึงโค้ง และดูถึงการทำงานของระบบ GVC Plus ที่จะทำให้เราเข้าโค้งได้อย่างสมดุลและปลอดภัย

สถานีนี้เราก็ได้ทดสอบรถทั้งสองรุ่น 1.3 เบนซินและ 1.5 ดีเซล เช่นเดิม การเข้าโค้งทำได้ดีแทบไม่แตกต่างกันเพียงแต่พละกำลังเมื่อกดคันเร่งช่วงออกโค้ง เครื่องดีเซลมีกำลังที่จะตอบสนองการขับขี่ได้ดีกว่า แต่จากการที่เครื่องยนต์ดีเซลมีน้ำหนักที่มากกว่า ทำให้ส่วนหน้าของรถมีน้ำหนักมากกว่าในรุ่นเบนซินอยู่บ้าง ความสมดุลในการขับโดยเฉพาะในขณะเข้าโค้งแตกต่างจากรุ่นเบนซินแต่ไม่ได้ถึงกับมากมายนัก การเบรกในช่วงก่อนเข้าโค้งทำได้ดี สมรรถนะการหยุดชะลอความเร็วทำได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย ระบบเอบีเอสและตัวช่วยต่างๆ ทำหน้าที่ได้อย่างไม่บกพร่อง ระบบ GVC Plus ช่วยเราได้มากในขณะเข้าโค้ง การควบคุมรถทำได้ง่ายขึ้น


 


จากนั้นเราก็ย้ายมาสู่สถานีทดสอบที่ 3 เป็นการวิ่งด้วยความเร็วสูงรอบสนามแข่งความยาว 4.54 กม. แบบจัดเต็มนำโดยรถ มาสด้า MX5 สปอร์ทโรดสเตอร์ของครูฝึกที่เป็นนักแข่งรถพาขบวนมาสด้า 2 ของพวกเราวิ่งแนะนำไลน์สนามในการเข้าโค้ง จุดเบรก จุดเลี้ยว การควบคุมรถในสถานการณ์ต่างๆ  เราได้ลองทั้ง 1.3 เบนซิน และ 1.5 ดีเซล เช่นเดิม กำลังเครื่องยนต์ของรถเล็กรุ่นนี้วิ่งไปบนสนามแข่งได้อย่างสบายๆ เค้นกำลังกันแบบมิดคันเร่งเลยทีเดียว ระบบรองรับเซทมาดีมาก ผมว่าอยู่ในระดับหัวแถวของรถประเภทนี้เลย การควบคุมบังคับในขณะเข้าโค้ง การเบรก การเร่งออกโค้งทำได้ดี เป็นรถเล็กที่ขับสนุก เสียงยางร้องดังอยู่ในแทบทุกโค้งแต่รถก็ยังควบคุมได้ดี เพียงแต่การนำรถมาวิ่งในสนามแข่งอาจจะต้องใช้ทักษะและประสพการณ์อยู่มากทีเดียวเพราะแต่ละโค้งในสนามช้างถือว่าไม่หมูเลย บางโค้งอาจต้องเข้าแบบเลทเอเพค ต้องอาศัยความคุ้นเคยและมองเหลี่ยมต่างๆ ในโค้งให้ออก การทดลองขับผ่านพ้นไปด้วยดีอย่างปลอดภัย รถทั้งสองรุ่นทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจ
 
สำหรับผู้ที่มองหารถเล็กในระดับพรีเมียม ราคาอาจจะแพงกว่าคู่แข่งพอสมควรแต่สิ่งที่คุณได้รับเหนือกว่ารถในระดับเดียวกันอย่างแน่นอนโดยเฉพาะการควบคุมบังคับ และอุปกรณ์มาตรฐานที่ใส่เข้ามาเพียบ ในรุ่น เบนซิน 1.3 ลิตร ราคาเริ่มต้นที่ 546,000 – 690,000 บาท ส่วนดีเซล 1.5 ลิตร มีสองราคา 782,000 บาท กับ 799,000 บาท สนใจไปลองขับได้ที่โชว์รูปมาสด้าทั่วประเทศไทย

ขอขอบคุณ : บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด สำหรับการอำนวยความสะดวกตลอดการเดินทางทดสอบรถในครั้งนี้  

        

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้