Mazda CX-30 เฉียบคม..ขับสนุก..เติมเต็มช่องว่างตระกูล CX

2613 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โดย สุรพงษ์ ศิริชาติ

 

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 ซึ่งตามเดิมจะเป็นวันเปิดตัวรถรุ่นใหม่ในรูปแบบ คอมแพ็ค เอสยูวี ภายใต้ชื่อรุ่น CX-30 จากค่าย มาสด้า ซึ่งเพิ่งฉลองครบรอบการก่อตั้งบริษัทครบ 100 ปี ต่อหน้าสื่อมวลชน แต่ด้วยพิษของ “โรคโควิท 19” ทำให้การเปิดตัวรถรุ่นใหม่นี้ทำการเปิดตัวผ่าน “ออนไลน์” แทน หลังจากเปิดตัวประมาณ 1 อาทิตย์ ทาง บริษัท มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย จำกัด ได้เชิญสื่อมวลชนเข้าร่วมการทดสอบเจ้า CX-30 บนเส้นทาง ขอนแก่น-เพชรบูรณ์ กับระยะทาง 300 กม.



CX-30 ผู้มาเติมเต็มช่องว่างตระกูล CX

การเปิดตัว CX-30 มีเสียงจากวงการสื่อมวลชน และกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบรถในตระกูล “มาสด้า” ว่ารถรุ่นนี้มันจะออกมาทับไลน์กับ CX-3 เดิม ที่เป็นรถในกลุ่ม SAV หรือไม่ โดยทาง “มาสด้า” กล่าวว่า CX-30 ไม่ได้ออกมาแทน CX-3 แต่เป็นการมาเติมเต็มช่องว่าระหว่าง CX-3 กับ CX-5 โดยมองกลุ่มตลาดลูกค้า ที่เริ่มจะสร้างครอบครัว, คู่รักที่เพิ่มเริ่มคบหากัน หรือกลุ่มลูกค้าที่เริ่มเข้าสู่วัยทำงาน และมีไลฟ์สไตล์ชื่นชอบในการท่องเที่ยว

CX-30 วางตำแหน่งของตัวเองว่าเป็นรถในกลุ่ม “คอมแพ็ค เอสยูวี” มิติตัวรถจะใหญ่กว่า CX-3 และจะเล็กกว่า CX-5 ดูจากตัวเลขต่อไปนี้

มิติตัวรถ :หน่วนเป็น มิลลิเมตร                              


CX-3
CX-30
CX-5
ยาว
4,275
 4,395  
4,550
กว้าง
 1,765
1,795
 1,840
สูง
 1,535
  1,540  
 1,680

ระยะห่างฐานล้อ

 2,570 
2,655
 2,700
 


ดีไซน์ของตัวรถมีความโฉบเฉี่ยวตามแบบฉบับ Kodo Desigh เส้นสายของตัวรถเรียกได้ว่าแสดงจุดยืนของตัวเองได้ชัดเจน ผสานการเล่นแสง และเงาของดีไซน์ด้านข้างตัวรถที่แทบจะไม่มีเส้นสายอะไรเลย แต่เมื่อแสงตกกระทบมาที่ด้านข้างตัวรถคุณจะเห็นเส้นสายที่ซ่อนอยู่ภายในแบบ S Curve เวลาวิ่งจะเหมือนสายน้ำไหล อันนี้บอกตรงๆ ว่าทีมดีไซน์ของ “มาสด้า” สุดยอดมากๆ ในการออกแบบ และกล้าเล่นเส้นสายในรูปแบบนี้(แม้หลายคนจะมองว่าเหมือนตัวรถมันบุบๆ ก็เถอะ)
 


ชายด้านล่างรอบคันทาง “มาสด้า” เลือกใช้แทบสีดำทั้งหมด อาทิ ลิ้นหน้า-คิ้วซุ้มล้อ-ชายล่างลากยาวไปยันด้านท้ายรถ ซึ่งนอกจากช่วยให้บ่งบอกว่าเป็นรถแนวลุยๆ นิดๆ แล้ว ทางวิศวกรออกแบบต้องการให้เกิดการแบ่งระหว่างตัวรถกับชายล่างอย่างชัดเจน ส่งผลให้เส้นสายของตัวรถมันโดดเด่นชัดเจนมากยิ่งขึ้น
 
 


ดีไซน์ด้านหน้ามาพร้อมกับกระจังหน้ารูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์ของมาสด้ายุคใหม่ ซี่กระจังหน้าแบบ 3 เหลี่ยม ออกแบบให้ดูมีมิติ และทำความสะอาดได้ง่ายกว่า CX-5 และ 3 ล้อมกรอบด้วยคิ้วโครเมี่ยมลากยาวไปยันมุมไฟหน้าทั้ง 2 ฝั่ง(ตรงนี้มาสด้าเรียกว่า “ซิกเนเจอร์วิงส์”) ไฟหน้าในรุ่นท็อป “SP” จะเป็นแบบ “โปรเจ๊กเตอร์ แอลอีดี” ด้านในมีหลอดไฟทั้งหมด 20 ดวง พร้อมไฟ “Daytime Running Light” และพิเศษสุดคือ จะมีระบบ ALH ระบบไฟหน้าแบบอัจฉริยะควบคุมการทำงานไฟสูง-ต่ำ แยกซ้าย-ขวา โดยอัตโนมัติ เหมาะกับสภาพถนน และระยะห่างจากตำแหน่งรถคันหน้า และรถที่วิ่งสวนเลน ส่วนรุ่นรองท็อป และล่างสุด S และ C จะเป็นหลอดธรรมดา ส่วนไฟเลี้ยวออกแบบให้เวลาเปิดไฟเลี้ยวแล้วแสงไฟจะสว่าง แล้วค่อยๆ หรี่ลง แล้วสว่างๆ แล้วหรี่ลงอีก(คล้ายๆ หิ่งห้อย)
 


บั้นท้ายดูอวบอิ่มจากการออกแบบโป่งซุ้มล้อหลังเส้นสายโอบรับต่อเนื่องมายังท้ายรถ ไฟท้ายออกแบบให้มีความเรียว และสอดไส้ไว้ด้วยหลอดแบบ LED รุ่น SP จะมีความพิเศษอยู่นิดนึงกับไฟ LED Signature กระจกบังลมด้านหลังมีไล่ฝ้ามาให้ พร้อมก้านปัดน้ำฝนด้านบนสุดติดตั้งสปอยเลอร์พร้อมไฟเบรคดวงที่ 3แบบ LED มาให้ครบครัน ฝาท้ายในรุ่น C จะเป็นแบบธรรมดา ส่วนรุ่น S กับ SP จะเป็นแบบเปิด-ปิด ด้วยระบบไฟฟ้า พร้อมปุ่มเซ็นทรัลล็อค แต่ยังไม่มีระบบเตะเปิดฝาท้ายนะครับ(CX-8 ก็ยังไม่ให้มานะ)
 


ล้อแม็กทางวิศวกรบอกว่าออกแบบให้ลายของล้อแม็กดูมีมิติมากยิ่งขึ้นโดยในรุ่น C จะมาพร้อมล้อแม็กขอบ 16 นิ้ว กว้าง 6.5 นิ้ว รัดไว้ด้วยยาง Yokohama รุ่น BluEarth ขนาด 215/65 R16 ส่วนรุ่น S และ SP ได้ล้อแม็กขอบ 18 นิ้ว กว้าง 7 นิ้ว จับคู่ยาง Dunlop รุ่น SP Sport Maxx 050 ไซส์ 215/55 R18
 
 
 

คล้ายMazda3..แต่มีบางอย่างที่ไม่เหมือน

เปิดประตูเข้าชมห้องโดยสารของ CX-30 กันบ้าง หลายคนที่เคยเห็นภาพจากในอินเตอร์เน็ตอาจบอกว่านี้มัน Mazda3 ชัดๆ แต่แท้ที่จริงแล้วยังมีดีเทลบางอย่างที่แตกต่างออกไป การเลือกโทนสีภายในเน้นความอบอุ่นกับโทนสีดำสลับสีน้ำตาล คอนโซลหน้ามีช่วงตรง “จอกลาง” Center Display ถ้า Mazda จะดูจอใหญ่เห็นชัดเจน แต่พอมาเป็น CX-30 เส้นสายของคอนโซลหน้าจะดูหนากว่าทำให้จอดูลึก และดูเล็กกว่าทั้งที่ความเป็นจริงขนาดของจอยัง 8.8 นิ้วเท่าเดิม เช่นเดียวกับเส้นสายด้านข้างของคอนโซลหน้าที่ออกแบบให้สอดรับกับเส้นสายของ “แผงประตูหน้า” ซึ่งแผงประตูทั้งหน้า-หลัง ก็มีเส้นสายที่เปลี่ยนไปจาก Mazda3 แม้กระทั่งตำแหน่งการวางลำโพงก็แตกต่างกันอยู่นิดหน่อย
 
 
 


มาตรวัดเรือนไมล์มีจอ TFT LED ขนาด 7 นิ้ว ซึ่งแสดงในเรื่องของ มาตรวัดความเร็ว, อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเฉลี่ย, และการบอกระยะห่างจากรถคันหน้าเมื่อใช้ระบบ MRCC หรือ Mazda Redar Cruiser Control ส่วนมาตรวัดอื่นๆ ยังคงเหมือนกับ Mazda3 และที่แจ่มแจ๋วสุดคือทุกรุ่นได้จอแสดงผลการขับขี่ Active Driving Head-Up Display ที่แสดงผลการทำงานต่างๆ สะท้อนขึ้นบนกระจกบังลมหน้าฝั่งคนขับอีกด้วย, พวงมาลัยแบบ 3 ก้าน ออกแบบให้จับถนัดมือพร้อมปุ่มมัลติฟังก์ชั่นครบคัน และตัวพวงมาลัยสามารถปรับได้ 4 ทิศทาง ระบบปรับอากาศแบบ Auto Dual Zone แยกอุณหภูมิซ้าย-ขวาได้ พร้อมช่องแอร์ที่ด้านหลัง
 


เบาะนั่งคู่หน้าเรียกได้ว่าแทบจะยกมาจาก Mazda3 กันเลยทีเดียว เบาะนั่งออกแบบให้นั่งสบายมีปีกไซส์ซัพพอร์ทป้องกันไม่ให้ตัวไหลออกจากบอกเวลาเข้าโค้ง หรือโยกเปลี่ยนเลนเร็วๆ เบาะคนขับเป็นแบบไฟฟ้า 10 ทิศทาง พร้อมเมมโมรี่ 2 ตำแหน่ง สวิทช์ติดตั้งบนคอนโซลหน้าใต้ช่องแอร์ฝั่งคนขับ(ซึ่งตรงจุดนี้จะมีสวิทช์ต่างๆ อีกเพียบ) ส่วนเบาะผู้โดยสารตอนหน้ารอบนี้ปรับมือได้ 4 ทิศทาง  คอนโซลกลางออกแบบให้แตกต่างกับ Mazda3 ตำแหน่งวางแก้วของ CX-30 จะอยู่หน้าคันเกียร์ ปุ่มควบคุม Center Commander วางตำแหน่งให้ใช้งานสะดวก เท้าแขนสามารถเลื่อนสไลด์ได้ และเปิดออกมาเป็นช่องเก็บของขนาดย่อมๆ พร้อมช่องเสียบปลั๊กแบบ Power Outlet
 


เบาะนั่งด้านหลังออกแบบให้มีที่วางแก้วบนพนักวางแขนตรงกลาง และตัวพนักพิงสามารถพับแยกแบบ 60:40 เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่เก็บสัมภาระ หมอนรองศีรษะสามารถปรับระดับได้ทั้ง 3 ตำแหน่ง ซึ่งการออกแบบตัวเบาะนั่งก็ยังคงมาในสไตล์เดียวกับ Mazda3 ไม่นุ่มหรือแข็งจนเกินไป แม้ตำแหน่งของพนักพิงออกจะชันไปสักนิด แต่ทางมาสด้าก็ได้แก้ไขด้วยการออกแบบด้วยการเพิ่มพื้นที่ความสูงเหนือศีรษะออกไปอีก 29 มม.
 
 

เรื่องของระบบมัลติมีเดียของ Mazda CX-30 เชื่อมต่อกับ Apple Car Play, Android Auto สามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์ไร้สายผ่าน Blutooth ได้ มีช่องเสียบ AUX และ USB มาให้ และแน่นอนที่สุดในรุ่น SP จะเพิ่มความรื่นรมย์ตลอดการเดินทางกับชุดลำโพง BOSE 12 ตำแหน่ง ให้คุณภาพเสียงครบรส ส่วนรุ่น S กับ C จะได้ลำโพงธรรมดา 8 ตำแหน่ง สุ้มเสียงก็ไม่ธรรมดาเหมือนกันนะเท่าที่ลองฟังดู

 
 
จุดเด่นอีกอย่างคือ Mazda ในเจเนอเรชั่น SkyActive พยายามออกแบบ และติดตั้งฉนวนซับเสียงไว้ค่อนข้างมาก เพื่อให้เสียงที่รบกวนจากภายนอกเข้าสู่ห้องโดยสารน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งกระจกบังลมหน้าแบบ Theater Glass ยางซีลขอบประตูแบบ 2 ชั้น มีการบุวัสดุซับเสียงภายในห้องโดยสารเกือบจะทั้งหมดแม้กระทั้งในโครงประตูทั้ง 4 บาน ช่วยให้ห้องโดยสารของ CX-30 มีความเงียบสบายตลอดการเดินทาง
 
 
 


2.0 SkyActiv G ปรับใหม่..ช่วงล่างไม่เหมือน Mazda3 ซะทีเดียว

ขุมพลังของ CX-30 มาพร้อมกับเครื่องยนต์เพียงบล็อกเดียวคือ SkyActiv G ความจุ 2.0 ลิตร DOHC 16 วาล์ว ให้แรงม้า 165 ตัว ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิด 213 นิวตัน-ม. ที่ 4,000 รอบต่อนาที  สามารถใช้เชื้อเพลิงได้ตั้งแต่แก็สโซฮอล E10-E85 ซึ่งตัวเครื่องยนต์บล็อคนี้เป็นตัวเดียวกับ Mazda3 ที่มีการปรับปรุงใหม่เกือบทั้งตัวอาทิ ลูกสูบแบบใหม่ ลดกำลังอัดลงจาก 14.0:1 เหลือเพียง 13.0:1, เสื้อสูบมีการปรับปรุงเรื่องช่องทางเดินระบบน้ำหล่อเย็นใหม่, หัวฉัดปรับจังหวะการฉีดจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นฝอยละเอียดมากยิ่งขึ้น, ปรับแรงดันน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ เช่นเดียวกับการปรับจังหวะการทำงานของระบบจุดระเบิดให้สอดคล้องกัน
 


ระบบส่งกำลังยังคงเป็นชุดเกียร์อัตโนมัติ SkyActiv-Drive 6 จังหวะ พร้อม Activ Matic +/- ที่คันเกียร์ ส่วนรุ่น SP จะแป้น Paddle Shift ที่พวงมาลัยมาให้ แต่สิ่งที่แตกต่างจากเกียร์ใน Mazda3 คือ มีการเปลี่ยนอัตราทดของเฟืองท้ายให้เหมาะสมกับตัวรถ
 


ระบบกันสะเทือนด้านหน้าแบบอิสระแม็กเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง โดยตัวปีกนกมีการออกแบบใหม่พร้อมกับปรับเปลี่ยนตำแหน่งการวางของลูกหมากจากแนวนอนมาเป็นแนวตั้ง เพื่อช่วยในการลดแรงสั่นสะเทือนที่จะเข้ามาสู่ห้องโดยสารให้น้อยลงนิดนึง แต่ยังคงให้ความหนักแน่นตามสไตล์ของมาสด้า
 


ระบบกันสะเทือนด้านหลังเป็นแบบ ทอร์ชั่นบีม ที่มีการออกแบบ และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น แต่เป็นคนละชุดกับ Mazda3 เพราะ ตำแหน่งยืดยุบ หรือความสูงของตัวรถแตกต่างกัน เช่นเดียวกับชุดช็อคอัพที่การปรับจูนมาให้นุ่มนวลกว่า และมีระยะยืดยุบที่มากกว่า ส่วนระบบเบรคเป็นดิสค์เบรคทั้ง 4 ล้อ พร้อมตัวช่วยอาทิ ABS, EBD และระบบควบคุมเสถียร์ภาพในการทรงตัว DSC, ระบบช่วยป้องกันการลื่นไถล TCS ออกตัวบนทางลาดชัน และสัญญาณไฟกระพริบเมื่อเบรคกะทันหัน ESS
 


เหนือสิ่งอื่นใด Mazda ยังได้ติดตั้งระบบควบคุมสมรรถนะในการขับขี่ที่ทาง Mazda เรียกว่า GVC- G Vectoring Control ซึ่งช่วยควบคุมในจังหวะการออกตัว จังหวะเบรค จังหวะการหักเลี้ยวของตัวรถให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด ผู้ขับขี่ และผู้โดยสารจะมีการเหวี่ยงตัวลดน้อยลง นอกจากนี้ยังได้เพิ่มระบบ GVC Plus ที่เข้ามาจัดการระบบเบรคเมื่อผู้ขับขี่มีการหักเลี้ยวแบบกะทันหัน หรือเลี้ยวโค้งด้วยความเร็วสูง ระบบจะสั่งให้จับเบรคที่ล้อซึ่งอยู่ด้านนอกโค้งแบบเบาๆ ช่วยลดอาการหน้าดื้อขณะเข้าโค้ง และยังลดอาการเหวี่ยงของตัวรถในขณะเข้าโค้งได้อีกทางหนึ่งด้วย
 
 
 
 
300 กม. ขึ้นเขา-ลงเขา โค้งไปมา ขับสนุก

เส้นทางที่ผู้จัดวางไว้ให้สื่อมวลชนได้ทดลองขับ CX-30 เป็นเส้นทางจาก ขอนแก่น-มุ่งหน้าไปยัง พิษณุโลก วิ่งผ่าน อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว และผ่านเขาค้อ สภาพเส้นทางจากตัวเมืองขอนแก่นเป็นทางไฮเวย์ตรงยาวๆ ประมาณ 100 กม. สิ่งแรกที่สัมผัสได้ชัดเจนคือ ทัศนวิสัยด้านหน้าที่โปร่งตาม เสา A-Pillar ที่ออกแบบ และจัดวางตำแหน่งไม่บดบังสายตาในขณะเลี้ยวออกจากโรงแรม Avani น้ำหนักพวงมาลัยไม่หนักหรือเบาจนเกินไปขณะวิ่งในเมือง แต่พอความเร็วระดับ 100 กม./ชม. ให้ความกระชับยิ่งขึ้น เบาะนั่งสบายส่วนรองนั่งเกือบเต็มต้นขาทำให้ไม่เมื่อยขณะขับขี่ เสียงของเครื่องยนต์เข้ามาน้อยมาก ระบบกันสะเทือนซับแรงสั่นสะเทือนได้ค่อนข้างดี อาการกระด้างมีน้อยกว่า Mazda3 อยู่นิดหน่อย
 


ถึงจุดขึ้นเขาช่วยอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว โค้งเยอะขึ้น ทางชันขึ้น ตรงจุดนี้เราสัมผัสได้ถึงพละกำลังของเครื่องยนต์ SkyActiv G ที่ทำงานสอดผสานกับระบบส่งกำลังได้เป็นอย่างดี คือ กดเมื่อไหร่เป็นมาไม่มีอาการรอรอบ และขับสนุกสุดเมื่อใช้รอบเครื่องยนต์แตะระดับ 4,000 รอบขึ้นไปบนทางแบบนี้ และจังหวะลงเขาเกียร์ก็ค่อนข้างฉลาดที่จะปรับเปลี่ยนอัตราทดเพื่อช่วยในเรื่องของ Engine Brake รวมถึงทัศนวิสัยในการขับขี่บนเขาถือว่าดีเลยทีเดียวมุมอับสายตาค่อนข้างน้อยทำให้ปลอดภัยในขณะเลี้ยวโค้ง หรือแซงในโค้งบางจังหวะที่เจอรถบรรทุกช้ามากๆ  

 
ฟิลลิ่งของพวงมาลัยขณะเลี้ยวโค้งไปมาบนเขาถือว่าแม่นยำ และน้ำหนักกำลังดี ทำให้การขับขี่บนทางเขาเป็นอะไรที่สนุกมากๆ ช่วงล่างที่ซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี ตัวรถมีอาการโยนตัวขณะเข้าโค้งไม่มากนัก ส่วนหนึ่งคงต้องยกความดีให้กับระบบ GVC และ GVC Plus ที่เข้ามาช่วยตลอดเวลา ระบบเบรคตอบสนองได้ดีไม่มีการอาการเบรคเฟดขณะลงเขาด้วยความเร็วให้เห็นเลยสักครั้ง โดยจุดที่ตั้งแต่ขึ้นเขายันลงเขาระยะทางประมาณ 100 กว่ากม. การควบเจ้า CX-30 กลับเป็นเรื่องที่สนุกสนาน ไม่เครียด และทำให้เห็นว่ารถแนว คอมแพ็ค เอสยูวี ก็ขับสนุกไม่แพ้ Mazda3 แต่อย่างใด
 
 


 
นอกจากการขับขี่ที่สนุกสนาน ตัวรถที่นั่งสบาย และพร้อมลุยเส้นทางที่หลากหลาย CX-30 ยังเพียบพร้อมด้วยระบบความปลอดภัยอาทิ ระบบควมคุมความเร็ว และพวงมาลัยตามรถคันหน้า CTS(Cruising&Traffic Support)ระบบแจ้งเตือนการชนด้านหน้า และเบรคอัตโนมัติ Advanced SBS(Advance Smart Brake Support), ระบบควบคุมรถให้อยู่ในเลน LAS, ระบบเตือนเมื่อรถเบี่ยงออกนอกเลน LDWS(Lane Departure Warning System), ระบบเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน ABSM(Advanced Blind Spot Monitoring), ระบบแจ้งเตือนเมื่อมีรถในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง RCTA(Rear Cross Traffic Alert) พร้อมระบบช่วยหยุดรถเมื่อมีรถอยู่ในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง SBS-RC(Smart Brake Support-Revrse Crossing) เหนือสิ่งอื่นใด CX-30 ยังสอบผ่านมาตรฐานการชนจาก Euro NCAP 5 ดาวกันเลยทีเดียว

 
แม้ในตลาดคอมแพ็ค เอสยูวี จะมีเจ้าตลาดอย่าง Honda HR-V คู่กัดสำคัญอย่าง Toyota C-HR รวมถึงคู่แข่งหน้าใหม่ MG ZS และที่กำลังจะตามออกมาในเร็ววัน Nissan Kicks แต่ Mazda ก็มีจุดเด่นในเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก ความหรูหราของห้องโดยสาร การขับขี่ที่สนุกสนาน และไว้ใจได้ ด้วยราคาเริ่มต้นในรุ่น C 9.89 แสนบาท, รุ่น S 1.099 ล้านบาท และรุ่นท็อป SP 1.199 ล้านบาท
 


Mazda อาจต้องทำการบ้านเพิ่มอีกนิดในการเจาะกลุ่มผู้บริโภค รวมถึงบริการหลังการขายที่ยังอยู่บ้าง ถ้าทุกอย่างแก้ไขได้ถูกทาง รับประกันได้ว่ายอดขายเจ้า CX-30 จะวิ่งฉลุยอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ แม้ยอดตอนเปิดตัวจนถึงช่วยวันทดสอบจะมียอดจองเข้ามากว่า 1,500 คันแล้วก็ตาม
 
 
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้