Sneak Preview All New Mazda BT50 ลุคใหม่..แอบหรู..แต่กลิ่นอายเดิมหายไป

1275 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โดย ภาคิน ศิริชาติ 

 

วันนี้บริษัท มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย(จำกัด) จัดงาน Sneak Preview เชิญสื่อมวลชนสายยานยนต์เข้าร่วมการทดลองขับแบบน้ำจิ้มกับรถกระบะตัวใหม่ล่าสุด All New BT50 ที่ครั้งนี้ มีการเปลี่ยนโฉมใหม่ทั้งหมด แม้จะเป็นการเข้าร่วมกับค่ายยักษ์ใหญ่ในรถกระบะเชิงพาณิชย์ อีซูซุ ก็ตามที เรามาลองดูกันซิว่า มาสด้า ได้ออกแบบ และมีการปรับปรุงตรงจุดไหนที่ทำให้แตกต่าง และถ่ายทอด DNA ของ มาสด้า ลงสู่รถกระบะคันใหม่ ที่พร้อมลงช่วงชิงยอดขายของรถกลุ่มนี้ในช่วงต้นปีหน้า

 

 

นำเส้นสาย Kodo มาใช้ในด้านหน้า มาครบทั้งตัวเตี้ย และตัวสูง

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 ช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นวันที่ มาสด้า มอเตอร์ คอปอเรชั่น ได้บรรลุข้อตกลงกับ อีซูซุ ลิมิเต็ด จับมือเป็นพันธมิตรใหม่ล่าสุด(แต่ลองย้อนไปจริงๆ ถือว่าเป็นเกลอเก่า) เพื่อร่วมกันพัฒนารถกระบะ 1 ตัน ทั้ง ออล-นิว อีซูซุ ดีแม็กซ์ และ ออล-นิว มาสด้า บีที 50 โดยงานหลักยกให้ทางอีซูซุ ซึ่งทางอีซูซุ ได้เผยโฉมกระบะรุ่นใหม่ออกมาในช่วงปลายปี 2019


จนเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2020 ค่าย มาสด้า ได้เผยโฉม กระบะคันใหม่ ออล-นิว บีที 50 อย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลก ณ ประเทศออสเตรเลีย โดยเป็นการเผยโฉมบอดี้ Double-Cab ตัว 4x4 เครื่องยนต์ 3.0 ลิตร(ส่วนในบ้านเราจะมีรุ่น Freestyle Cab และ Single Cab) หากดูจากรูปร่าง และโครงสร้างของตัวรถจะเห็นได้ว่า โครงหัวเก๋งจากอีซูซุ แต่เปลือกกระบะหลังมีการปรับเปลี่ยนเส้นสายที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด  ทางด้านหน้าใช้เส้นสายการออกแบบของมาสด้า ที่เรียกว่า Kodo Desigh ซึ่งนำมาใช้ตั้งแต่ 2, 3 จนถึงรถในกลุ่ม SUV อย่าง CX3, CX30, CX5 และ CX8

 


โดยการออกแบบให้มีกระจังหน้าทรง 7 เหลี่ยม พร้อมเส้นสายแบบ ซิกเนเจอร์-วิงส์ ไฟหน้าแบบ LED พร้อม Daytime Running Light ตัวกันชนออกแบบให้มีช่องดักลมด้านข้างที่ฝังชุดไฟเลี้ยว และไฟตัดหมอกทรงกลม กระจกมองข้างกรอบโครเมี่ยมขนาดใหญ่ฝังชุดไฟเลี้ยวไว้ครบถ้วน ส่วนทางด้านท้าย ชุดไฟท้ายละม้ายคล้ายแต่ไม่เหมือนของ ดีแม็กซ์  เช่นเดียวกับล้อแม็กลายใหม่ที่เน้นความเรียบหรู

สำหรับมิติของ ออล-นิว บีที 50 (รุ่น Double Cab) ยาว 5,280 มม., กว้าง 1,870 มม., สูง 1,790 มม., ระยะความยาวฐานล้อ 3,125 มม. โดยรถรุ่นนี้จะย้ายฐานการผลิตจากโรงงาน AAT:Auto Alliance (Thailand) มาผลิตที่โรงงาน อีซูซุ สำโรง พร้อมส่งออกไปจำหน่ายยังหลายประเทศทั่วโลก

โครงสร้างตัวถังแบบใหม่ รวมถึงแชสซีส์ใหม่ทั้งหมด Dynamic Drive Platform, โครงสร้างตัวถังเสริมเหล็ก Ultra-High Tensile แข็งแกร่ง และทนทานกว่าเหล็กธรรมดา, ตัวแชสซีส์ใหม่ มีขนาดใหญ่ขึ้น รับแรงบิดได้สูงขึ้นอีก 23%, เพิ่มคานตัดขวาง(Cross Member)

 

ขุมพลัง 1.9 และ 3.0 VGS Turbo

ทางด้านเครื่องยนต์ของ ออล-นิว บีที 50 มาพร้อมกับเครื่องยนต์ 2 ระดับความแรง กับบล็อค 1.9 ลิตร VGS Turbo ภายใต้รหัส RZ4E-TC แถวเรียง 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว Commonrail Direct Injection พร้อมเทอร์โบแบบแปรผัน VGS และอินเตอร์คูลเลอร์ ให้แรงม้าสูงถึง 155 แรงม้าที่ 3,600 รบต่อนาที แรงบิด 350 นิวตัน-ม. ที่ 1,800-2,600 รอบต่อนาที จับคู่กับระบบส่งกำลังเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และอัตโนมัติ 6 จังหวะ



เครื่องยนต์บล็อค 3.0 ลิตร VGS Turbo ภายใต้รหัส 4JJ3-TCX แถวเรียง 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว Commonrail Direct Injection พร้อมเทอร์โบแปรผัน VGS และอินเตอร์คูลเลอร์ ให้แรงม้า 190 ที่ 3,600 รอบต่อนาที แรงบิด 450 นิวตัน-ม. ที่ 1,600-2,600 รอบต่อนาที ทำงานร่วมกับระบบส่งกำลังเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ และอัตโนมัติ 6 จังหวะ



ระบบกันสะเทือนเลือกใช้ด้านหน้าแบบ อิสระ ปีกนก 2 ชั้น ดับเบิ้ลวิชโบน คอยล์สปริง ช็อคอับ พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนทางด้านหลังแบบ แหนบแผ่นยาวแบบ Long Span เทคโนโลยีใหม่ WSSP(แหนบ 3 แผ่นในรุ่นตัวสูงทั้งหมด) และในรุ่น 4x4 สามารถลุยน้ำสูงระดับ 800 มม. ระบบเบรกด้านหน้าเป็นดิสค์ ตัวคาลิเปอร์เบรกจาก Akebono และหลังเป็นดรัมเบรค พร้อมระบบความปลอดภัยอาทิ ABS, EBD และ BA ยังไม่นับเรื่อง ถุงลมลมนิยภัยนะครับ


 

 

เรียบหรูสไตล์ มาสด้า

ภายในห้องโดยสารของ ออล-นิว บีที 50 มีการออกแบบใหม่ทั้งหมด โดยเน้นความเรียบง่าย แต่ให้ความรู้สึกหรูหรา พวงมาลัยหุ้มหนังแบบ 3 ก้าน(พร้อมมัลติฟังก์ชั่นในรุ่นท็อป), หน้าจอกลางแบบ ทัชสกรีน ขนาด 7 นิ้ว เชื่อมต่อ Apple CarPlay และ Android Auto, เชื่อมต่อ Bluetooth เบาะนั่งคู่หน้าออกแบบให้นั่งได้สบายโอบกระชับผู้ขับขี่(ปรับไฟฟ้าในรุ่นท็อป), ระบบปรับอากาศแบบ Auto Dual Zone ในรุ่นท็อป พร้อมช่องแอร์ในด้านหลัง และช่องเสียบชาร์จไฟแบบ USB

 

ระบบความปลอดภัยเพียบ

ด้านระบบความปลอดภัยของ ออล-นิว บีที 50 มาเต็มระบบอาทิ ระบบเบรคฉุกเฉินอัตโนมัติ AEB, ระบบเตือนการชนด้านหน้า FCM, ระบบช่วยเตือนเมื่อมีรถในจุดบอด Blind Spot Assist, ระบบเตือนออกนอกเลน LDW, ระบบช่วยรักษาช่องทางเดินรถ LKA, ระบบควบคุม Hill Start Ascent และ Hill Descent,เรดาร์ช่วยเตือนเมื่อมีรถวิ่งผ่านในจุดอับสายตาขณะถอยหลัง Rear Cross Traffic Alert, ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ Adaptive Cruise Control และกล้องถอยหลัง

 

ได้ลองตัว 3.0 Double 4x4 นุ่มกว่าตัวเก่า พวงมาลัยแม่นขึ้น อัตราเร่งพอสนุก

ทางทีมงานได้มีโอกาสได้ทดลองขับ ออล-นิว บีที 50 ในรุ่นท็อป 3.0 Double Cab 4x4 ที่ปรับเปลี่ยนระบบขับเคลื่อนแบบ Shift on the Fly ซึ่งสัมผัสแรกที่รู้สึกคือ น้ำหนักของพวงมาลัยที่เบากว่ารุ่นก่อน ตัววงอวบเต็มมือ สวิทช์มัลติฟังก์ชันใช้งานสะดวก ตัวพวงมาลัยสามารถปรับได้ 4 ทิศทาง



เบาะนั่งคู่หน้าออกแบบให้มีไซส์ซัพพอร์ทโอบกระชับลำตัวดีทีเดียว ตัวเบาะนุ่มนั่งสบาย(แต่ไม่แน่นเท่าพวกตระกูล CX ทั้งหลาย) หน้าจอเรือนไมล์ออกแบบให้มองเห็นชัดเจน ตรงกลางแบบ TFT สามารถเปลี่ยนดูค่าการทำงานต่างๆ ของตัวรถได้จากปุ่มมัลติฟังก์ชั่นบนก้านพวงมาลัยด้านขวามือ หน้าจอเครื่องเสียงทัชสกรีนขนาดใหญ่มองเห็นชัดเจน และใช้งานง่าย สวิทช์ระบบปรับอากาศเหมือนกับคู่แฝด


เสียงของเครื่องยนต์เล็ดลอดเข้ามาให้ห้องโดยสารในระดับที่รับได้ ในเรื่องของการทดสอบ ทางทีมงานมาสด้า ได้ออกแบบสนามทดสอบให้ลองในเรื่องของ สลาลอม เพื่อให้ดูฟิลลิ่งการตอบสนองของพวงมาลัย ในความเร็วระดับ 40 กม./ชม. อัตราทดพวงมาลัยกำลังดีเลี้ยวโยกผ่านไพล่อนไปอย่างสบายๆ แม้อาการของช่วงล่างออกจะนิ่มกว่ารุ่นเก่าไปนิด ในแต่ให้ความรู้สึกว่าเอาอยู่ ออกจากสลาลอม แล้วเลี้ยวขวากว้างๆ เข้าเลนเชนจ์แบบแคบๆ ตัวรถให้ความคล่องตัวดีไม่น้อย อาการหน้าดื้อ หรือท้ายเหวี่ยงในระดับความเร็วไม่เกิน 40 กม,/ชม. ถือว่าช่วงล่างเซ็ทมาได้ค่อนข้างดี



ต่อด้วยการเข้าแทร็กมินิเซอร์กิต ตรงนี้เราได้สัมผัสถึงอัตราเร่งช่วงรอบต้น และจังหวะการเปลี่ยนเกียร์ที่ค่อนข้างดี แรงบิดของเครื่องยนต์ 3.0 ลิตร กระฉับกระเฉงดีไม่น้อย ช่วงเข้าโค้งกว้าง และโค้งแคบตามไลน์ของสนามฟิลลิ่งของช่วงล่างที่มองว่านิ่มในที่แรก กลับควบคุมได้อย่างสบายๆ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากอัตราทดของพวงมาลัยที่เข้ามาช่วยในการเลี้ยวเข้าโค้งได้อย่างดี แป้นเบรคไม่ลึก หรือตื้นเกินไป น้ำหนักกำลังพอดีคอนโทรลน้ำหนักเท้าในการชะลอความเร็วได้อย่างที่ต้องการ

วกออกจากมินิเซอร์กิต ออกมาลองใช้ความเร็วสูงกันบ้าง ช่วงความเร็ว 80-110 กม./ชม. อัตราเร่งทันอกทันใจดี แต่ช่วงเกิน 120 กม./ชม. ขึ้นไปไหลๆ ไม่ยืดยาด แต่ไม่รวดเร็ว แต่ถือว่าดีในข่วงจังหวะเร่งแซง และการเก็บเสียงของห้องโดยสารช่องความเร็ว 100-120 กม./ชม. มีเสียงลมเล็ดลอดเข้ามาให้ห้องโดยสารให้ได้ยินกันบ้าง



นี่เป็นการทดลองขับแบบน้ำจิ้มที่ทาง มาสด้า อยากให้สื่อมวลชนสายยานยนต์ได้ลองสัมผัส รถกระบะรุ่นใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทั้งคัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ สาวกกระบะ มาสด้า คงชอบกันมากขึ้น ทั้งในเรื่องของรูปลักษณ์ และสมรรถนะของเครื่องยนต์ที่สามารถเอาไปแต่งสวย และต่อยอดความแรงได้ไม่น้อยหน้าคู่แข่ง และการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้น่าจะช่วยให้ มาสด้า แบ่งก้อนเค้กในกลุ่มรถกระบะเชิงพาณิชย์ 1 ตัน ได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้  

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้