Nissan Navara Pro-4X หล่อ..ลุย..ไม่แพ้ใคร!!

1646 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โดย Pakin Sirichat


หลังจาก นิสสัน มอเตอร์ ได้มีการเผยโฉมของ รถกระบะเชิงพาณิชย์ “นาวาร่า” ที่มีการปรับรูปลักษณ์หน้าตาใหม่สไตล์ไอ้กัน เมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา และพร้อมจำหน่ายในเมืองไทยเป็นที่แรกของโลก ก่อนส่งออกจำหน่ายไปยังประเทศต่างๆ เมื่อช่วงปลายเดือน กุมภาพันธ์ ทาง นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย(จำกัด) ได้จัดการทดสอบบนเส้นทางแบบออนโร๊ด และออฟโร๊ด เพื่อให้สื่อมวลชนได้สัมผัสถึง สมรรถนะของตัวรถกระบะรุ่นใหม่นี้ ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งทาง นิสสัน ได้เลือกใช้เส้นทางจาก กรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่จุดชมวิว “เขาแด่น” จังหวัดเพชรบุรี ด้วยระยะทางไป-กลับประมาณ 300 กม. ทีมงานได้มีโอกาสทดลองขับรุ่น PRO-4X Double Cab ขับเคลื่อน 4 ล้อ เกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ

 

อเมริกันสไตล์

นิสสัน นาวาร่า ใหม่ มีการปรับปรุงหน้าตาใหม่ในทุกรุ่น อาทิไฟหน้าแบบ LED โปรเจ็กเตอร์ข้างล่ะ 4 ดวง ให้ความสว่างขึ้นกว่าไฟหน้าทั่วไป 38 เปอร์เซ็นต์ กระจังหน้าดีไซน์ใหม่(Intelocking Frame Grille) เช่นเดียวกับ ฝากระโปรงหน้าที่ออกแบบเส้นสายให้สอดรับกับกระจังหน้า กันชนหน้าออกแบบใหม่มาพร้อมกับแผงกันกระแทกด้านล่าง และไฟตัดหมอก LED ดีไซน์ใหม่



รุ่น PRO-2X ขับเคลื่อน 2 ล้อ และ PRO-4X ขับเคลื่อน 4 ล้อ ได้รับการตกแต่งพิเศษให้หล่อเหลาในสไตล์ออฟโร๊ดขาลุย เน้นความดุดัน กับชุดกระจังหน้า-กรอบครอบกระจกมองข้าง แร็คหลังคา มือเปิดประตู และโป่งล้อ ที่เลือกใช้โทนสีดำ ไฟท้ายดีไซน์เลนส์ด้านในใหม่แบบ Chrome Detail LED ฝาท้ายออกแบบใหม่มาพร้อมกับระบบผ่อนแรงในรุ่น Double Cab ทั้งหมด กันชนท้ายใหม่แบบ 2 Step ลดความสูงของจุดเหยียบให้ต่ำลงอีก 17 ซม. เพิ่มความสะดวกเมื่อต้องปีนกัน



เปลือกกระบะท้ายดีไซน์ใหม่ มาพร้อมกับตะขอยึดสำภาระ 4 จุด แบบเลื่อนสไลด์ได้ บันไดข้างแบบใหม่ ล้อแม็กเลือกใช้ขอบ 17 นิ้ว สีดำเงา รัดด้วยยางแบบ All-Terrain ไซส์ 255/65 R17 ว่ากันง่ายๆ การดีไซน์ภายนอกของ “นาวาร่า” ใหม่ ครั้งนี้ เน้นความเป็นอเมริกันสไตล์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสีสันใหม่ เทา สเตลท์ เกรย์ ซึ่งเป็นสีพิเศษในรุ่น PRO-2X และ PRO-4X เท่านั่น








 


ภายในหรูขึ้น..แต่มีบางสิ่งที่หายไป

ภายในห้องโดยสาร “นาวาร่า” ใหม่ มีการปรับเปลี่ยนค่อนข้างมากในทุกๆ รุ่น คอนโซลหน้ายังคงเลย์เอาท์คล้ายของเดิม แต่มีการปรับเปลี่ยน ยกหลุมวางของด้านบน และช่องเสียบชาร์จไฟออก ช่องวางแก้วแบบเลื่อนสไลด์ใต้ช่องแอร์ซ้าย-ขวา ก็เอาออกไป(เอาออกทำไม!!) มาตรวัดเรือนไมล์เปลี่ยนใหม่ มาพร้อมกับจอ TFT แบบ 3 มิติ แสดงข้อมูลได้มากมาย และเป็นศูนย์กลางในการปรับแต่งค่าการทำงานต่างๆ ของตัวรถอีกด้วย



พวงมาลัย 3 ก้าน(พิมพ์นิยมของ นิสสัน ยุคนี้) แม้จะไม่เป็นทรง D-Shape แต่ก็มาพร้อมกับปุ่มมัลติฟังก์ชั่นทางฝั่งซ้าย และฝั่งขวาเป็นปุ่มของ Cruise Control พวงมาลัยปรับได้แค่ สูง-ต่ำ(ค่ายอื่นปรับได้ 4 ทิศทาง) หน้าจอเครื่องเสียงขนาด 8 นิ้ว รองรับ Apple Car Play, Android Auto, ต่อสาย USB ไว้ฟังเพลง, Google Map และชาร์จแบตมือถือได้ในตัว ช่องจ่ายไฟมีให้งานแบบเพียงพอกับการใช้งาน นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมต่อ Nissan Connect Service มีฟังก์ชั่นที่หลากหลายอาทิ การค้นหาตำแหน่งของรถ, โทรฉุกเฉินเรียกรถยก, เตือนเมื่อถึงเวลาที่ต้องเข้ารับการเซอร์วิส, เตือนเมื่อรถมีการเคลื่อนที่หรือถูกยก, การจำกัดขอบเขตการใช้งาน และเตือนความเร็ว


เบาะนั่งออกแบบใหม่ Zero Gravity กระจายแรงกด รอบรับกระดูกสันหลัง ทรงสปอร์ต แม้พนักพิงจะดุนหลังมากไปนิด(สำหรับผมนะ) แต่ก็ยังให้ความสบายในการเดินทางได้เป็นอย่างดี(ในรุ่น PRO-2X, PRO-4X ปรับมือนะจ๊ะ) เบาะนั่งทางด้านหลังนั่งได้สบายในระดับนึง มาพร้อมกับที่เท้าแขนที่พับลงมาเป็นที่วางแก้ว 2 ช่อง(อันนี้ดีกว่ารุ่นเดิม) โทนสีภายในห้องโดยสารเลือกใช้เป็นสีดำ ยกเว้นเสา A-B-C Pillar และผ้าหลังคาที่เลือกใช้โทนสีขาว ช่วยให้ภายในห้องโดยสารดูไม่อึดอัดมากจนเกินไป นอกจากนี้มือจับตรงเสา A-Pillar และบริเวณเหนือศีรษะมีให้เฉพาะฝั่งผู้โดยสารเท่านั่น ฝั่งผู้ขับขี่ไม่ติดตั้งมาให้(รุ่นเดิมมีให้ครบ) ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะจะช่วยให้ผู้ขับขี่ขึ้น-ลง ได้สะดวกมากกว่านี้




อีกจุดหนึ่งที่ลืมกล่าวถึงไม่ได้เลยคือ ห้องโดยสารเก็บเสียงดีขึ้นกว่าเดิมพอควร ไม่ว่าขณะขับขี่ด้วยความเร็ว เสียงของเครื่องยนต์ เสียงของลมที่ปะทะตัวรถ เสียงของยางที่บดพื้นถนนเล็ดลอดเข้ามาสู่ห้องโดยสารน้อยลงกว่ารุ่นเดิมอย่างรู้สึกได้  


YS23DDTT ยกมาจาก Terra จูนนิดๆ

ทางด้านขุมพลังของ “นาวาร่า” ใหม่ รุ่น PRO-2X, PRO-4X, Double Cab VL มาพร้อมกับเครื่องยนต์รหัส YS23DDTT ที่ยกมาจาก PPV รุ่น “เทอร์ร่า” แบบดีเซล แถวเรียง 4 สูบ 16 วาล์ว คอมมอนเรล ไบ-เทอร์โบ ความจุ 2.3 ลิตร ให้แรงม้า 190 แรงม้า ที่ 3,750 รอบต่อนาที แรงบิด 450 นิวตัน-ม. ที่ 1,500-2,500 รอบต่อนาทีรอบรับน้ำมันเชื้อเพลิง B7, B10 และ B20 มีการปรับจูนในเรื่องของจังหวะการทำงานของคันเร่งไฟฟ้า ให้มีการตอบสนองไวขึ้นกว่าใน “เทอร์ร่า” จับคู่กับระบบส่งกำลังเกียร์อัตโนมัติ 7 จังหวะ พร้อมโหมดการขับขี่แบบแมนนวล


พละกำลังของเครื่องยนต์เท่าที่เคยสัมผัสใน “เทอร์ร่า” ถือว่าดีพอตัว แม้จังหวะกดคันเร่งทีแรกจะมีอาการดีเลย์ของคันเร่งไฟฟ้าอยู่เล็กน้อย ซึ่งเราค่อนข้างกังวลว่าจะมีอาการเดียวกันไหม แต่พอได้สัมผัสจริงๆ ในช่วงเดินทางบนถนนพระราม 2 พบว่าอาการดีเลย์ของคันเร่งไฟฟ้าที่เจอใน “เทอร์ร่า” กลับพบน้อยลง ทำให้การขับขี่สนุกขึ้น โดยเฉพาะจังหวะเร่งแซงกดปุ๊บมาปั๊บ(แม้บางครั้งจะหงุดหงิดบ้างกับการทำงานของชุดเกียร์ที่ยังมีอาการคิดช้า(รุ่นก่อนก็แบบเนี่ย ถ้าจูน ECU เกียร์อีกสักนิดแจ่งแจ๋วเลย)




แต่กลับกันเมื่อเข้าถึงช่วงการทดสอบแบบออฟโร๊ดบริเวณ “เขาแด่น” กับระยะทาง 4 กม. เพื่อขึ้นไปยังจุดชมวิว สภาพเส้นทางมีหลากหลายทั้งทางดินปนทราย และช่วงด้านบนจะเป็นเส้นทางแบบหินลอย บางช่วงมีร่องหลุมลึก พละกำลังของเครื่องยนต์ พร้อมกับชุดเกียร์ และชุดเกียร์ทรานเฟอร์ ที่เราได้ใช้งานครบถ้วนทั้ง 4Hi-4Lo แถมยังพ่วงระบบ Electronic Locking Rear Differential ล็อคการหมุนของล้อคู่หลังด้านระบบไฟฟ้า หากล้อข้างใดหมุนฟรี หรือลอยเหนือพื้น ล้ออีกข้างจะมีแรงหมุนพาตัวรถเคลื่อนผ่านอุปสรรค์ต่างๆ ทำให้การบุกตลุยเส้นทางไปยังจุดชมวิวเขาแด่นเป็นเรื่องที่ง่ายดายมาก

 

นุ่มขึ้น..พวงมาลัยฉับไวกว่าเดิม

ระบบกันสะเทือนของ “นาวาร่า” ใหม่ ยังคงเลย์เอ้าท์เดิม ทางด้านหน้าแบบ อิสระ ปีกนก 2 ชั้น สตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง และทางด้านหลังเป็น คานแข็ง แนบแผ่นซ้อนกัน(เพลาหามแหนบ) ช็อคอัพไขว์ ชื่อเสียงของรถกระบะ “นิสสัน” ตั้งแต่รุ่น “บิ๊กเอ็ม” เน้นการบรรทุก ทำให้ด้านหลังออกอาการแข็ง กระด้าง สะเทือนตับไต พอสมควร แต่ใน “นาวาร่า” ใหม่ ทั้งรุ่น PRO-2X, PRO-4X และ Double Cab มีการปรับเซ็ทใหม่ทั้งหมด

โดยทางด้านหน้ามีการเปลี่ยนค่าความแข็งของ “คอยล์สปริง” ใหม่ เช่นเดียวกับทางด้านหลังที่ปรับเปลี่ยนค่าความแข็งของ “แผ่นแหนบ” ใหม่ทั้งหมด ตัวช็อคอัพทั้ง 4 ต้นก็ปรับจูนค่าการทำงานใหม่ ทำให้การขับขี่บนเส้นทางออนโร๊ด นุ่มขึ้นกว่าเดิมแบบรู้สึกได้(เทียบกับตัวเดิม) อาการท้ายดีด หรือสับ(เด้ง) น้อยลง(บินคอสะพานบนถนนพระราม 2 อาการแกว่งของรถน้อยลง) แม้ระยะยืดของแผ่นแหนบจะไม่มากนักขณะที่ลุยเส้นทางบนเขาแด่น แต่เพราะระบบต่างๆ ของตัวรถ ทำให้สามารถผ่านอุปสรรค์ต่างๆ ได้ ผู้ขับ และผู้โดยสารไม่เหนื่อย




ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบ “แร็คแอนด์พิเนี่ยน” พร้อมเพาเวอร์ช่วงผ่อนแรง ตัวแร็คพวงมาลัยมีการปรับเปลี่ยนอัตราทดใหม่ ทำให้การบังคับควบคุมดีขึ้น คมขึ้น น้ำหนักของพวงมาลัยเบาลงจากรุ่นเดิม แม้จะไม่เบาหวิวเหมือนคู่แข่งในตลาด แต่กลับเป็นผลดีในการใช้ความเร็วสูงที่ให้ความมั่นใจที่มากกว่า และช่วงลุยทางออฟโร๊ดก็ดูจะอุ่นในกว่า อาการตีกลับของพวงมาลัยเวลาวิ่งผ่านเส้นทางขุรขระก็น้อยกว่า ขับแล้วไม่เครียด



ระบบเบรคเป็นแบบ หน้าดิสค์-หลังดรัม มีการปรับจูนใหม่ ให้การทำงานที่นุ่มนวล และให้ความปลอดภัยในขณะที่ต้องเบรคกระทันหัน นอกจากนี้ตัวรถ “นาวาร่า” ใหม่ทั้ง PRO-2X, PRO-4X, Double VL ได้ติดตั้งระบบความปลอดภัยเต็มพิกัด อาทิ ระบบเบรค ABS-EBD-BA, ระบบ HDC ควบคุมความเร็วอัตโนมัติในขณะลงทางลาดชัน, ระบบ,ถุงลมนิรภัย SRS 7 จุด รอบคัน, เข็มขัดนิรภัยคู่หน้าแบบ 3 จุดแบบรั้งกลับอัตโนมัติ และผ่อนแรงอัตโนมัติ สามรถปรับระดับได้ตามสรีระของผู้โดยสารแต่ล่ะท่าน เข็มขัดนิรภัยด้านหลัง ELR แบบ 3 จุด 3 ตำแหน่ง พร้อมจุดยึดเบาะที่นั่งเด็กแบบ ISOFIX



ระบบควบคุมรถเมื่อออกนอกช่องทางอัจฉริยะ(Intelligent Lane Intervention-Li) ทำงานร่วมกับ Lane Departure Warning(LDW) และกล้องอัจฉริยะมองภาพรอบทิศทาง(Intelligent Around View Monitor-IAVM) ช่วยให้มองเห็นอุปสรรค์ต่างๆ เมื่อขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ, การเข้า-ออก ซอยแคบๆ, และเส้นทางการขับขี่แบบออฟโร๊ด ในบางจังหวะที่เป็นมุมอับของสายตา  

  

   

นิสสัน นาวาร่า PRO-4X โดดเด่นด้วยรูปลักษณ์สไตล์อเมริกันที่ผ่านการตกแต่งเน้นลุย ดุดัน แต่แฝงความทันสมัยไว้ครบครัน ภายในห้องโดยสารให้อุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายมาเต็มพิกัด(แม้จะขาดหายไปบ้าง ถ้านิสสันกล้าๆ ที่จะใส่ของหน่อย) พื้นที่ห้องโดยสารค่อนข้างสบาย การเก็บเสียงที่ดีขึ้น พละกำลังของเครื่องยนต์ที่ขับสนุกขึ้น ช่วงล่างที่ปรับเซ็ทใหม่ และระบบความปลอดภัยเต็มพิกัด ในราคา 1.149 ล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ในกระบะขาลุย ณ เวลานี้ได้เลยล่ะครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้