ORA Good Cat เหมียวน้อยอารมณ์ดี..น่าใช้แต่สถานีชาร์จไฟต้องเยอะกว่านี้

2085 จำนวนผู้เข้าชม  | 

หลังจากยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เกรท์ วอลล์ มอเตอร์ ได้เข้ามาทำตลาดรถยนต์ในเมืองไทย โดยส่งรถรุ่นแรก Haval H6 รถยนต์อเนกประสงค์แนว SUV ที่มาพร้อมกับระบบขับเคลื่อนแบบ ไฮบริด จนมียอดจองที่สูง และขึ้นมายืนเบอร์ 1 ในยอดจำหน่ายช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เหล็กกำลังร้อน ทางค่ายเลยจัดการส่งรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียวๆ ภายใต้แบรนด์ ORA(โอร่า) ที่ถือกำเนิดในปี 2018 เพื่อพัฒนา และผลิตรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าโดยเฉพาะ และการเข้ามาบุกตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยครั้งนี้ ทาง เกรท์ วอลล์ นำเสนอรถรุ่น Good Cat ที่มาพร้อมกันทีเดียว 3 รุ่น ประกอบด้วยรุ่น 500 Ultra, 400 Pro และ 400 Tech


ORA Good Cat ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามด้วยดีไซน์ที่น่ารักย้อนยุค จนกวาดยอดจองสิทธิ(ออนไลน์) ไปกว่า 4 พันคัน และมีข่าวเล็ดลอดมาว่าถึง ณ เวลานี้ ยอดจองสิทธิจริงๆ อยู่ที่ 6 พันคันเข้าไปแล้ว มาดูซิว่า เจ้าเหมียวน้อยอารมณ์ดีตัวนี้ มีอะไรที่น่าสนใจจนมียอดจองสิทธิเยอะขนาดนี้

เรไทรสไตล์..จากอดีตคนทำงานในรถสปอร์ตฝั่งเยอรมัน
รูปลักษณ์ภายนอกของ Good Cat มองแว๊บแรกก็บอกเลยว่าสวย น่ารัก โดยเฉพาะด้านหน้าที่ละม้ายคล้ายคลึงกับรถสปอร์ตฝั่งเยอรมันอย่าง ปอร์เช่ เพราะวิศวกรออกแบบของรถรุ่นนี้มีนามว่า Emmanuel Derta เคยทำงานที่ปอร์เช่ โดดเด่นด้วยไฟตากบโปนๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของปอร์เช่ ไฟหน้าเป็นแบบ LED พร้อม Daytime Running Light แบบวงแหวน เปิด-ปิดอัตโนมัติ และไฟสูงอัตโนมัติได้(รุ่น 500 Ultra)


ฝากระโปรงหน้าออกแบบให้มีลอนคู่ให้รถดูมีมิติ และส่งผลในเรื่องของหลักอากาศพลศาสตร์ กันชนหน้าออกแบบเรียบง่ายไร้ซึ่งกระจังหน้า แต่กลับออกแบบให้มีช่องรับลมบริเวณชายล่างของกันชนหน้า(ไว้ระบายความร้อนให้กับชุดระบายความร้อนของมอเตอร์ขับเคลื่อน)



ด้านข้างเส้นสายด้านข้างดูเรียบๆ เส้นของหลังคาโค้งมน(หลังคาเป็นแบบ Panoramic Roof  เฉพาะรุ่น 500 Ultra และรุ่น 400 Pro) การออกแบบด้านท้ายรถมีความล้ำสมัย โดยการนำเอาชุดไฟท้ายแบบ LED ไปซ่อนอยู่ในกระจกบังลมด้านหลัง แต่กลับแยกชุดไฟเลี้ยวมาอยู่กับชุดแผงทับทิมสะท้อนแสงบริเวณมุมของกันชนหลังทั้ง 2     

 
   


ด้วยการวางฐานล้อหน้า-หลัง ที่ค่อนข้างยาว ทำให้มีพื้นที่ภายในห้องโดยสารที่ใหญ่ขึ้น นั่งสบาย ไม่อึดอัด ระยะความยาวฐานล้ออยู่ที่ 2,650 มม. กันเลยทีเดียว ส่วนมิติตัวรถด้านอื่นๆ อาทิ ความยาวตัวถัง 4,235 มม., กว้าง 1,825 มม., สูง 1,596 มม. ความกว้างฐานล้อคู่หน้า 1,557 มม. และความกว้างฐานล้อคู่หลัง 1,577 มม. และความสูงใต้ท้อง 145 มม. ทางด้านล้อแม็กเลือกใช้ 5 ก้าน น็อตล้อ 5 รู P.C.D. 112 มม. ขนาด 18 นิ้ว(รุ่น 400 Tech ล้อขอบ 17 นิ้ว) รัดด้วยยางจากประเทศเดียวกันยี่ห้อ Giti ยิ่งทำให้ตัวรถดูใหญ่กว่าที่ควรจะเป็น

 

โดดเด่นด้วยจอ TFT และ Touch Screen
ภายในห้องโดยสารห้อง Good Cat มีขนาดที่ใหญ่พอตัว ส่วนเนื่องเกิดมาจากการจัดวางตำแหน่งความยาวของฐานล้อนั่นเอง การดีไซน์ภายในเน้นความเรียบง่าย แต่แอบแฝงลูกเล่นไฮเทคกับชุดจอเรือนไมล์แบบ TFT ขนาดใหญ่ สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ 2 แบบ ฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ ครบถ้วน มองเห็นชัดเจน และข้างๆ กันก็เป็นจอ Touch Screen สำหรับระบบการสั่งงานอื่นๆ อาทิ เครื่องเสียง, ระบบนำทาง, ระบบปรับอากาศ, การดูปริมาณของแบตเตอรี่ และการปรับตั้งค่าการทำงานต่างๆ ของตัวรถผ่านจากหน้าจอนี้ แถมยังเชื่อมต่อ Apple Car Play และ Android Auto ได้ตามยุคสมัย และยังสั่งงานด้วยเสียงได้ค่อนข้างแม่นยำ แม้อาจมีเอ๋อๆ บ้างในบางครั้ง ส่วนปุ่มการทำงานแอบมีการนำรูปแบบของรถที่คุณมองก็รู้ว่ายี่ห้ออะไรมาใช้ แต่ก็เข้ากับสไตล์การออกแบบภายใน

 

 


คอนโซลหน้า และแผงประตูถูกหุ้มด้วยวัสดุด้วยหนังคล้ายๆ อะคันทาร่า ให้ความหรูหราดีไม่น้อย เมื่อเทียบกับรถในคลาสเดียวกัน ส่วนโทนสีภายในห้องโดยสาร รุ่น 400 Tech, 400 Pro จะมาพร้อมกับโทนสีดำ ส่วนรุ่น 500 Ultra จะมีภายในสีดำ และภายในสีทูโทน เขียว-ขาว(สำหรับตัวรถสีเขียวหลังคาขาว) และภายในสีเบจ-น้ำตาล(สำหรับตัวรถสีเบจหลังคาน้ำตาล)



เบาะนั่งออกแบบให้นั่งสบายแม้จะออกแข็งๆ ไปสักนิด และส่วนรองต้นขาสั้นไปหน่อยนึง เบาะคนขับปรับไฟฟ้า 6 ทิศทาง(รุ่น 500 Ultra เลื่อนให้อัตโนมัติเมื่อเปิดประตู, มีเมมโมรี่ให้ แถมด้วยระบบนวดผ่อนคลายอีกต่างหาก) มีข้อติดอยู่นิดนึงตั้งแต่ Haval H6 แล้วคือ เข็มขัดนิรภัย 3 จุดคู่หน้า ไม่สามารถเลื่อนปรับระดับได้ ระหว่างเบาะคู่หน้าออกแบบให้เป็นที่อยู่ของ สวิทช์ปรับระบบขับเคลื่อนโดยเป็นปุ่มหมุนสีโครเมี่ยมขนาดใหญ่จับเต็มไม้เต็มมือดี และใกล้ๆ กันจะมีแท่นวางสำหรับชาร์จโทรศัพท์แบบ Wireless Charger ให้ความสะดวกสบายดีไม่น้อย ใกล้ๆ กันเป็นเท้าแขนขนาดไม่ใหญ่เปิดออกมาเป็นช่องเก็บของได้



เบาะนั่งทางด้านหลังออกแบบสไตล์เดียวกับเบาะคู่หน้า พับแยก 60:40 ได้ แต่ส่วนรองนั่งจะแบนกว่า และพื้นรถจะถูกยกสูงกว่ารถทั่วไป เพราะด้านล่างจะเป็นที่อยู่ของชุดแบตเตอรี่ ทำให้ตำแหน่งท่านั่งจะเหมือนยกขาสูงขึ้นกว่ารถทั่วๆ ไป แต่ก็ไม่ถือว่านั่งลำบาก แต่อย่างใด พื้นที่ Leg Room สบายๆ ทั้งด้านหน้า และด้านหลัง ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะ ทางด้านหน้าเหลือแบบสบายๆ ส่วนด้านหลังก็เหลือในระดับที่คนสูง 173 ซม. นั่งได้ไม่อึดอัด

500 Ultra กับ 400 Pro/ Tech แบตเตอรี่คนล่ะแบบ
ทางด้านระบบขับเคลื่อนของเจ้าแมวเหมียวอารมรณ์ดี จะใช้มอเตอร์แบบ Permanent Magnet Synchronous หรือมอเตอร์แบบ แม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งมีความทนทาน และให้ประสิทธิภาพการทำงานที่ดี เสียงเงียบ เมื่อเทียบกับมอเตอร์ไฟฟ้าแบบอื่นๆ ตัวมอเตอร์ให้แรงม้าสูงถึง 143 แรงม้า แรงบิด 210 นิวตัน-ม.



แหล่งพลังงานที่ส่งไปให้มอเตอร์ไฟฟ้าจะเป็นแบตเตอรี่แบบ ลิเธียม Ternary(NMC) 

แบตเตอรี่รุ่น 500 ความจุ 63.139 kWh เวลาชาร์จไฟ 0-80% ใช้เวลา 60 นาที (แบบ DC) ความเร็วสูงาด 152 กม./ชม.

แบตเตอรี่รุ่น 400 ความจุ 47.788 kWh ใช้เวลาชาร์จไฟ 0-80% ใช้เวลา 46 นาที(แบบ DC) ความเร็วสูงสุด 152 กม./ชม.



อัตราเร่งออกตัวถือว่าทำได้ดีเพราะมอเตอร์ไฟฟ้าไม่มีการรอรอบ กดคันเร่งก็พุ่งปรี๊ด แม้จะไม่ใช่ในลักษณ์ดึงหลังติดเบาะ แต่ก็ให้อัตราเร่งที่น่าประทับใจจากจากออกตัว และเร่งแซง ส่วนเรื่องปริมาณการใช้ไฟในขณะขับเคลื่อนนั่น อาจไม่ได้ถึงระยะตัวเลจที่ทางโรงงานเครมเอาไว้ แตกต่างอยู่ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ เพราะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ สภาพการจราจร สัมภาระที่บรรทุก แรงดันลมยาง เป็นต้น


ระบบกันสะเทือนหนึบ แต่กระด้างไปสักนิด
ระบบกันสะเทือนของ Good Cat ทางด้านหน้าเลือกใช้แบบ อิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนทางด้านหลังเป็น ทอร์ชั่นบีม ซึ่งประสิทธิภาพของช่วงล่างชุดนี้เมื่อวิ่งใช้งานในเมืองถือว่าซับแรงสั่นสะเทือนได้ค่อนข้างดีในระดับที่น่าพอใจ กลับกันเมื่อขับด้วยความเร็วระดับ 120-130 กม./ชม. การทรงตัวก็ทำได้ดี โยกเปลี่ยนเลนรถไม่มีอาการวูบวาบให้เสียวสันหลัง

ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากความกว้างของฐานล้อหน้า-หลัง และความยาวฐานล้อ และการบาล้านซ์น้ำหนักที่ดี ทำให้การทรงตัวของรถจัดว่าดีในระดับที่น่าพอใจ แต่พอสลับมาเป็นผู้โดยสารทางด้านหลัง กลับพบว่ามีการกระเด็นกระดอนอยู่บ้าง(แต่ในระดับที่รับได้) ส่วนหนึ่งเพราะรูปแบบของช่วงล่างทางด้านหลัง ที่ทำให้ระยะยืด-ยุบ ของช็อคอัพมีไม่มากนัก ตรงนี้อาจจะแก้ไขพื้นฐานง่ายๆ ด้วยการปรับแรงดันลมยางล้อคู่หลังให้น้อยกว่าสเปกที่โรงงานกำหนดสัก 2-3 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว

ระบบบังคับเลี้ยวเป็นแบบ แร็คแอนด์พิเนี่ยนพร้อมเพาเวอร์ไฟฟ้าแบบ EPS อัตราทดไม่ถือว่าไวมากนัก ระยะฟรีก็ไม่เยอะมาก ทำให้การควบคุมขณะขับขี่ในเมืองซอกแซกไปมาทำได้อย่างคล่องตัว และขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูงก็ไม่รู้สึกถึงอาการวอกแวก ส่วนเรื่องการปรับน้ำหนักของพวงมาลัยในแต่ล่ะแบบนั่น ให้ความแตกต่างกันไม่ถึง 10% ในแต่ล่ะโหมด แต่ก็ให้ความมั่นใจดีพอตัว



ระบบเบรค ORA ใจดียกชุด ดิสค์เบรคมาให้ทั้ง 4 ล้อ พร้อมระบบความปลอดภัยอาทิ ABS, EBD, BA และระบบตัวช่วยอื่นๆ อีกเพียบ ฟิลลิ่งของแป้นเบรคแรกสัมผัสต้องบอกเลยว่า ถ้าไม่คุ้นชินจะรู้สึกเหวอๆ เพราะเหยียบไปทีแรกจะดูหยุ่นๆ เท้า แพ๊บเดียวดูด และเบรคทำงานทันที คาแร็คเตอร์นี้เกิดมาจากแว็คคั่มของระบบเบรคใช้ปั๊มไฟฟ้า ทำให้ฟิลลิ่งแตกต่างไปจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ทั่วไป แต่ถ้าท่านใดเคยลองขับรถไฮบริดมาก่อน ฟิลลิ่งของแป้นเบรคจะเหมือนกับ Good Cat เป๊ะ

บทสรุปของการทดลองขับ ORA Good Cat จากค่าย เกรท์ วอลล์ มอเตอร์ ที่กล้านำรถไฟฟ้า EV เข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในวงการรถยนต์เมืองไทยไม่ถึงปี การออกแบบดีไซน์รูปลักษณ์ภายนอก สวยงาม น่ารัก แม้จะมีข้อติอยู่นิดหน่อย การออกแบบภายในห้องโดยสารที่กว้างขวางนั่งสบายในระดับการใช้งาน ฟังก์ชั่นการใช้งาน และลูกเล่นต่างๆ ที่ใช้งานได้จริง พละกำลังอยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการใช้งานในเมืองหรือเดินทางไกลได้สบายๆ เพียบพร้อมด้วยระบบความปลอดภัยเต็มพิกัดในรุ่น 500 Ultra ซึ่งเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่มีจำหน่ายในตอนนี้ถือว่า เพียบกว่าเยอะ



แม้จะยังห่วงเรื่องสถานีชาร์จไฟที่แม้จะมีอยู่มั่วประเทศ แต่ด้วยจำนวนที่ยังน้อย อาจยังไม่เพียงพอต่อจำนวนของรถไฟฟ้าที่กำลังจะเพิ่มมากขึ้น แม้จะมีแอปพิเคชั่น ให้ผู้ใช้รถเช็คได้ว่า สถานีชาร์จไฟใกล้สุดอยู่ตำแหน่งไหน และสถานะของสถานีชาร์จไฟตอนนี้มีการจอง หรือมีรถชาร์จไฟอยู่หรือเปล่า แม้ว่าทาง เกรท์ วอลล์ มอเตอร์ กำลังเร่งติดตั้งสถานีชาร์จไฟตามโชว์รูมที่กำลังทยอยเริ่มเปิดทั่วประเทศแล้วก็ตาม(แต่ไปใช้สถานีชาร์จของ MG ไม่ได้นะจ๊ะ)


รถไฟฟ้ากำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของผู้ใช้รถที่จำนวนจะเพิ่มมากขึ้น และค่ายรถยนต์ต่างๆ ก็เร่งพัฒนา และนำออกสู่ท้องตลาดในระยะเวลาอันใกล้นี้ ดังนั่นเรื่องการใช้งานระยะยาวไม่น่าจะต้องห่วงอะไร และราคาตัวรถน่าจะถูกลง เพราะทางภาครัฐน่าจะมีการปรับเรื่องโครงสร้างภาษีนำเข้ารถไฟฟ้าจาก 80% เหลือเพียง 20-30% ในไม่ช้า ชุดท้ายต้องขอขอบคุณ บริษัท เกรท์ วอลล์ มอเตอร์ ที่ให้เรานำเจ้าแมวน้อยอารมณ์ดีมาทดลองขับกันในครั้งนี้ และท่านผู้อ่านท่านใดสนใจอยากชมหรือ อยากทดลองขับ ORA Good Cat สามารถติดต่อได้ที่โชว์รูม เกรท์ วอลล์ ได้แล้ววันนี้   

   

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้