All New MITSUBISHI X Force HEV มีดีพอตัว..ขับสนุกพอประมาณ

127 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้เชิญสื่อมวลชนสายยานยนต์ ซึ่งทีมงาน lifestyle 224.com ก็ได้เข้าร่วมการทดสอบรถอเนกประสงค์ ไซส์ คอมแพ็ค เอสยูวี ที่กวาดยอดจองในงาน บางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2025 หลัก 2,000 คัน กันเลยทีเดียว โดยเส้นทางการทดสอบในครั้งนี้ เดินทางจากกรุงเทพ มุ่งหน้าสู่เส้นทาง เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัด กาญจนบุรี

ดีไซน์ที่แปลกตาตามแนวคิด Siky & Solid ไฟเลี้ยวด้านท้ายแอบเล็กไปนิด

รูปลักษณ์ภายนอกของ X Force HEV ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มตลาดของ คอมแพ็ค เอชยูวี ดังนั้นขนาดและดีไซน์ตัวรถจึงมาแนวเดียวกับคู่แข่งที่เป็นเครือญาติอย่าง Nissan Kicks หรือเจ้าตลาด ณ เวลานี้ นั่นก็คือ Toyota Yaris Cross โดยใช้แนวคิด Silky & Solid ซึ่งเป็นการผสมผสานสไตล์อันโดดเด่นทรงพลัง สะท้อนผ่านรูปลักษณ์เท่โฉบเฉี่ยว ดึงดูดทุกสายที่พบเห็น


จุดที่เรียกความสนเมื่อแรกเห็น ก็คงหนีไม่พ้นดีไซน์หน้ารถในรูปแบบของ ไดนามิคซิลค์ แบบ 3 มิติ ออกแบบให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะ  เป็นชุดกระจังหน้าที่มีเส้นสายกลมกลืนเข้ากับกันชนหน้าได้อย่างลงตัว ไฟหน้ามาพร้อมกับไฟ Daytime Running Light แบบ LED และในรุ่น Ultimate, Ultimate X จะมีไฟตัดหมอกแบบ LED ที่ชายล่างของชุดกันชนหน้า



ด้านข้างตัวรถเน้นความเรียบง่าย แต่แฝงด้วยเส้นสายของโป่งซุ้มล้อ พร้อมกับชายล่างของประตูทั้ง 4 บาน ที่มีความโค้งเว้า ซึ่งทำให้ตัวรถดูมีมิติ และรู้สึกถึงความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ด้านท้ายออกแบบให้มีเส้นสายสอดรับกับตัวรถรอบคัน


ไฟท้ายดีไซน์แบบเดียวกับไฟหน้า โดยชุดไฟเป็นแบบ LED เช่นกัน แต่เสียอย่างเดียว ชุดไฟท้ายออกแบบให้มีขนาดพอเหมาะ แต่เลนส์ของไฟเลี้ยวกลับเล็กมาก และเป็นข้อถกเถียงกันมากมายว่า มันจะสว่างพอไหมสำหรับการใช้งานจริง ซึ่งถ้าเป็นช่วงกลางวันแดดจัดๆ แสงสว่างของไฟเลี้ยวด้านท้ายอาจดูจืดจาง มองเห็นไม่ค่อยชัดเจนนัก แต่เวลาพลบค่ำ หรือที่มีแสงน้อยๆ ความเข้มของแสงไฟเลี้ยวถือว่า ให้ความสว่างที่เพียงพอต่อการมองเห็นจากรถคันด้านหลัง


กระจกบานหลังขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นด้านหลังแย่ลง ฝาท้ายมีขนาดใหญ่ที่เน้นความเรียบง่าย โดยมีการออกแบบเส้นสายให้สอดรับกับตัวรถ สำหรับกันชนท้ายนั้นจะให้อารมณ์สปอร์ตนิดๆ ส่วนด้านบนของฝาท้าย ออกแบบให้มีสปอยเลอร์ขนาดเล็กเพื่อช่วยในเรื่องของหลักอากาศพลศาสตร์

ในรุ่น Ignite ตัวรถจะเป็นสีเดียวทั้งคัน และมีสีสันให้เลือกเพียง 3 สีเท่านั่น ส่วนรุ่น Ultimate มีสีสันให้เลือก 4 สี, Ultimate X มีสีสันตัวรถให้เลือก 5 สี และรุ่น Ultimate, Ultimate X ตัวรถจะเล่นสีแบบทูโทน หลังคาดำ ทั้งหมด


มิติตัวรถ ยาว 4,390 มม. กว้าง 1,810 มม.  สูง 1,650 มม.  ความยาวฐานล้อ 2,650 มม. ความกว้างฐานล้อหน้า 1,565 มม. ความกว้างฐานล้อหลัง 1,565 มม. ความสูงจากพื้นถึงใต้ท้องรถ 183 มม. จะเห็นได้ว่าขนาดของตัวรถ X Force HEV ไม่ถือว่าเล็กกว่าคู่แข่งในตลาดแต่อย่างใด

เน้นความเรียบง่าย ใช้สอยสะดวก ตามแนวคิด Horizontal Axis


เปิดประตูเข้าไปชมห้องโดยสารกันบ้าง เจ้า X Force HEV ออกแบบตามแนวคิด Horizontal Axis เน้นความเรียบง่าย ใช้สอยสะดวก และมีทัศนวิสัยในการขับขี่ที่ดี โดยชุดคอนโซลหน้าออกแบบเน้นความเรียบง่าย แต่โดดเด่นด้วยชุดเรีอนไมล์ แบบ LED ขนาด 8 นิ้ว เคียงคู่ด้วยชุดจออินโฟเทนเม้นท์แบบ ทัช-สกรีน ขนาด 12.3 นิ้ว แสดงผลมัลติวิดเจ็ต แบ่งจอออกเป็น 3 ส่วน แสดงข้อมูลตัวรถไปพร้อมกันบนหน้าจอเดียว อีกทั้งยังแสดงผลชุดมาตรวัด มุมเอียงหน้า-หลัง, ซ้าย-ขวา และเข็มทิศเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีระบบ Smartphone-link Display Audio (SDA) เชื่อมต่อ Apple Car Play และ Android Auto แบบไร้สาย  พื้นผิวของคอนโซลหน้ามีการเล่นผิวสัมผัส และสีสัน ที่ทำให้ดูมีอะไรมากยิ่งขึ้น


ถัดจากจออินโฟเทนเม้นท์จะเป็นช่องแอร์กลาง และชุดสวิทช์ควบคุมระบบปรับอากาศ ต่ำลงมาจะมีช่องเสียบ USB Type-A, Type-C และช่องเสียบเพาเวอร์เอ้าท์เลท์ คอนโซลเกียร์ออกแบบให้มีขนาดค่อนข้างสูง มีปุ่ม Push Start-Stop กับปุ่มเบรกมือไฟฟ้า คันเกียร์แบบไฟฟ้า ขนาดใหญ่อวบจับเต็มไม้เต็มมือ มีที่วางแก้วมาให้ 2 จุด เท้าแขนขนาดใหญ่วางตำแหน่งไว้สูง พักแขนใช้ข้อมือขยับคันเกียร์ได้สะดวกยิ่งขึ้น พวงมาลัยแบบ 3 ก้านทรงพิมพ์นิยมของค่ายนี้ ปรับได้ 4 ทิศทาง ตัววงอวบกำลังดีจับถนัดมือ มีปุ่มมัลติฟังก์ชั่นมาให้เสร็จสรรพ



เบาะนั่งคู่หน้าออกแบบให้นั่งสบายมีไซส์ซัพพอร์ทโอบรับลำตัวกำลังพอดี เบาะผู้ขับขี่ปรับด้วยไฟฟ้า 8 ทิศทาง(เฉพาะรุ่น Ultimate, Ultimate X, ส่วนรุ่น Ignite จะเป็นอัตโนมือ 6 ทิศทาง) เท่าที่ได้สัมผัส ขณะขับทดสอบกลับพบว่า ต่อให้ปรับตำแหน่งของส่วนรองนั่งให้ต่ำสุดแล้วก็ยังให้ความรู้สึกว่าตำแหน่งที่นั่งยังคงสูงไปนิด (ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะส่วนรองนั่งที่มีความหนาอยากให้ผู้ขับขี่นั่งสบายในการขับขี่นานๆ) ทำให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ดูโย่งๆ ไปหน่อย เสา A-Pillar วางตำแหน่งได้ดี ไม่ค่อยบดบังสายตาเท่าไรนัก เบาะผู้โดยสารตอนหน้าเป็นแบบปรับเอง 4 ทิศทาง

ย้ายมาที่ด้านหลังกันบ้าง จุดที่น่าประทับใจคือ การออกแบบให้มีพื้นที่ด้านหลังมีที่นั่งค่อนข้างสบายเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาด ตัวพนักพิงเบาะปรับเอนได้ถึง 8 ระดับ และตัวพนักพิงยังสามารถพับแยกแบบ 40:20:40 เพิ่มความอเนกประสงค์ในการเก็บหรือขนสัมภาระได้ดีมากๆ วัสดุหุ้มเบาะทางมิตซูบิชิเลือกใช้ หนังสังเคราะห์ พร้อมคุณสมบัติสะท้อนความร้อน สีดำ-น้ำตาล(รุ่น Ultimate, Ultimate X) ส่วนรุ่น Ignite เป็นวัสดุแบบผ้า นอกจากนี้ยังมีช่องชาร์จไฟ USB Type A, Type C มาให้อีกด้วย รื่นรมย์ทุกการเดินทางด้วยระบบเสียง Dynamic Sound Yamaha Premium(เฉพาะรุ่น Ultimate X) พื้นที่เก็บสัมภาระท้ายรถมีขนาดไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไปสามารถจุสัมภาระไปเที่ยวแบบ 3 วัน 2 คืน ได้สบายๆ

เครื่องบล็อกใหม่ 1.6 ลิตร MIVEC DOHC จับคู่มอเตอร์ไฟฟ้า


มาต่อกันในเรื่องของสมรรถนะด้านพละกำลัง X Force HEV มาพร้อมกับเครื่องยนต์บล็อกใหม่ ความจุ 1.6 ลิตร MIVEC DOHC ให้แรงม้า 107 แรงม้า ที่ 5,100 รอบต่อนาที แรงบิด 134 นิวตัน-ม. ที่ 4,500 รอบต่อนาที(ตัวเครื่องยนต์รองรับน้ำมันเชื้อเพลิง E20) ทำงานร่วมกันมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 116 แรงม้า แรงบิด 255 นิวตัน-ม. แบบ Full Hybrid ที่พกพาแบตเตอรี่ Lithium-ion ความจุ 1.1 kWh(น้อยกว่า Nissan Kicks อีก) ระบบขับเคลื่อนเป็นชุดเกียร์ 2 จังหวะ ปรับเปลี่ยนการทำงานของระบบขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ ตามการขับขี่ สภาพพื้นผิวถนน ตั้งแต่การออกตัว ขับขี่ย่านความเร็วต่ำ-ปานกลาง และทางลาดชัน(ทางมิตซูบิชิเครมเรื่องอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 24.4 กม./ลิตร)

X Force HEV มาพร้อมกับโหมดการขับขี่ถึง 7 รูปแบบด้วยกัน ประกอบด้วย Normal Mode ใช้ขับขี่ประจำวัน, Wet Mode ใช้สำหรับการขับขี่บนถนนที่เปียกลื่น ป้องกันการลื่นไถล, Gravel Mode ใช้ขับขี่บนทางลูกรัง เพิ่มสมรรถนะในการขับขี่บนพื้นผิวที่ขุรขระ และลื่น, Tarmac Mode ไว้สำหรับขับขี่บนทางลาดยาง ปลดปล่อยสมรรถนะของเครื่องยนต์ และมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างเต็มที่, Mud Mode เหมาะสำหรับการขับขี่ในเส้นทางที่เป็นโคลน เพิ่มการตอบสนอง การยึดเกาะ และการควบคุมที่ดีเยี่ยมบนถนนดินโคลน, EV Mode โหมดการขับขี่ด้วยไฟฟ้า 100% และ EV Change โหมดชาร์จไฟกลับเข้าสู่แบตเตอรี่


การขับขี่ในเมืองช่วงรถติดๆ คลานๆ เราเลือกใช้โหมด EV เน้นความราบรื่นของการขับขี่จากมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นหลัก ส่งผลให้การขับขี่เป็นเรื่องที่สะดวกสบายให้อัตราเร่งแซงในเมืองที่ดี แม้ความจุแบตเตอรี่จะน้อย เครื่องยนต์สตาร์ทเพื่อชาร์จไฟเร็วไปนิด แต่เสียงของเครื่องยนต์ที่ติดขึ้นมาเสียงไม่ดังเข้ามาในห้องโดยสารมากจนเกินไป


เราลองปรับโหมดการขับขี่เป็น Normal Mode พอเข้าช่วงเดินทางไกล พละกำลังของตัวมอเตอร์ก็ให้กำลังในการขับขี่ที่ดี อัตราเร่งในช่วงต่างๆ ทำได้ดีเยี่ยม และช่วงที่ต้องเร่งแซงในช่วงความเร็วระดับ 120 กม./ชม. เครื่องยนต์จะเข้ามาผสานกำลังกับตัวมอเตอร์ทำให้อัตราเร่งแซงทำได้ดีพอตัว และการทำงานของเครื่องยนต์ก็ไม่ได้ใช้รอบเครื่องยนต์ที่สูงมากนัก(หากเทียบกับ Nissan Kicks และ Toyota Yaris Cross)


ถึงจุดที่ต้องใช้พละกำลังขึ้นเนินในงานช่วงก่อนเข้าสู่เขื่อนศรีนครินทร์ เราเลือกปรับมาเป็น Tarmac Mode  พละกำลังของมอเตอร์ และเครื่องยนต์จับคู่กันได้เป็นอย่างดี ไหลลื่น แม้อาจจะไม่ปรี๊ดปร๊าด แต่ก็เพียงพอต่อการพาครอบครัวนั่ง 4 คนไปท่องเที่ยวได้แบบสบายๆ พร้อมกับอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงที่จิบแบบสบายกระเป๋า

พวงมาลัยแม่น..ถ้านั่ง 4 นิ่มไปนิด..มาแรงๆ เบรคแอบเสียวหน่อยๆ


ระบบบังคับเลี้ยว เป็นแบบแร็คแอนด์พิเนี่ยนไฟฟ้า EPS ที่ปรับน้ำหนักตามความเร็วของรถ งานนี้ถือว่า มิตซูบิชิ เซ็ทติ้งน้ำหนักของพวงมาลัย และอัตราทดมาได้ดี น้ำหนักพวงมาลัยขับในเมืองเบาสบายกำลังดี ขับทางไกลความเร็วสูงๆ ก็ไม่เบาหรือหนักจนผู้ขับขี่เครียด แต่สิ่งที่ชอบมากคือ อัตราทดพวงมาลัยที่เฉียบคมกว่าคู่แข่งอยู่นิดๆ โดยเฉพาะเส้นทางไปเขื่อนศรีนครินทร์ มีทางโค้งหลายช่วง การหมุนพวงมาลัยเพื่อเปลี่ยนทิศทางไปตามโค้งต่างๆ ทำได้แม่นยำ และว่องไว ช่วยให้การขับขี่สนุกสนานในระดับที่น่าพอใจ


ระบบกันสะเทือนด้านหน้าเลือกใช้แบบ อิสระ แม็คเฟอร์สันสตรัท คอยล์สปริง พร้อมเหล็กกันโคลง ส่วนทางด้านหลังเป็นแบบ ทอร์ชั่นบีม(ตามสไตล์รถแนวนี้ มาแบบนี้ทุกค่าย อยู่ที่การเซ็ทติ้ง) ความรู้สึกของช่วงล่างชุดนี้ ถ้าขับในเมืองช่วงความเร็วต่ำๆ ถึงปานกลาง ถือว่านั่งสบาย แอบมีตึงๆ นิดๆ ตามสไตล์ของช่วงล่างด้านหลังแบบทอร์ชั่นบีม พอความเร็วสูงๆ ให้ความมั่นใจได้พอตัว กลับกันถ้านั่งเต็ม 4 คนพร้อมสัมภาระ อาการของช่วงล่างด้านหลังกลับนิ่มไปนิด เวลาเจอถนนที่ไม่เรียบ หรือรอยต่อคอสะพาน จะมีการโยนยวบยาบให้เห็นนิดๆ(ถ้าใช้งานจริงอาจเซ็ทติ้งช็อคอัพหลังใหม่ให้หนืดอีกนิด..น่าจะลงตัว)



ระบบเบรกเป็นดิสค์เบรคทั้ง 4 ล้อ หม้อลมเบรคเป็นแบบ E-Booster ฟิลลิ่งของแป้นเบรคก็ตามสไตล์ หยุ่นๆ เท้านิดๆ แต่พอถึงจุดการตอบสนองจะทำงานทันที ต้องปรับน้ำหนักเท้าในการคอนโทรลแป้นเบรคบ้างในช่วงแรกๆ พอคุ้นแล้วก็คอนโทรลง่าย เบรคได้ตามในที่ต้องการ แต่ช่วงความเร็วสูงๆ แล้วต้องเบรคหนักๆ แอบมีเสียวนิดๆ จนต้องเติมน้ำหนักการกดแป้นเบรคลงไปอีกหน่อย แต่อาการท้ายปัดเป๋ไม่มี


เรื่องของระบบความปลอดภัย X Force HEV จัดมาเต็มพิกัดทั้ง ระบบเบรก ABS, EBD, BA, ระบบควบคุมการขับเคลื่อน และสมดุลขณะเข้าโค้ง AYC, ระบบความคุมเสถียร์ภาพในการทรงตัว ASC, ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัด HSA, ระบบป้องกันการลื่นไถล TCL, ระบบไฟกระพริบฉุกเฉินอัตโนมัติ ขณะเบรคกะทันหัน ESS, ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง, ระบบแจ้งเตือนมุมอับสายตา BSA และระบบอื่นๆ ที่รถยนต์สมัยใหม่ต้องใส่มาให้ครบเพื่อความปลอดภัย



บทสรุปภาพรวมที่ได้มีโอกาสทดลองขับเจ้า Mitsubishi X Force HEV ในครั้งนี้ จุดเด่นหลักๆ อยู่ที่สมรรถนะโดยรวมของเครื่องยนต์กับมอเตอร์ไฟฟ้าที่ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น ถ้าแบตเตอรี่มีความจุมากกว่านี้เป็นสัก 2.1 kWh การขับขี่ในเมืองด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียวๆ จะได้ระยะทางที่ไกลกว่านี้ และส่งผลในเรื่องของอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงได้อีกทางหนึ่งด้วย วัสดุภายในห้องโดยสารภาพรวมถือว่าดีหรือเหนือกว่าคู่แข่งในบางจุด ติดเรื่องเดียวก็คือ “ไฟเลี้ยวท้ายรถ” ใหญ่กว่านี้อีกนิดได้ไหม



สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ บริษัท มิตซูบิชิ (มอเตอร์) ประเทศไทย ที่มอบโอกาสให้ทีมงานของเราได้เข้าร่วมการทดสอบในครั้งนี้ และหากท่านผู้อ่านสนใจอยากทดสอบสมรรถนะเจ้า X Force HEV สามารถไปทอสอบได้แล้ววันนี้ ณ โชว์รูม มิตซูบิชิ ทั่วประเทศ  

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้